ก่อนที่จะถึงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา เรามาศึกษาเกี่ยวกับประวัติของพระพุทธเจ้าสักเล็กน้อยนะครับ เพื่อประดับความรู้
ความหมายของพุทธประวัติ
พุทธประวัติ หมายถึง ประวัติของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศาสดาของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ศากยวงศ์ ผู้ปกครองเมืองกบิลพัสดุ์ และพระนางสิริมหามายา เจ้าหญิงจากโกลิยะวงศ์ แห่งเมือเทวทหะ ประสูติในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ณ สวนลุมพินีวัน อยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลรุมมินเด ประเทศเนปาล เมื่อประสูติได้ 3 วัน อสิตดาบส ได้ขอเข้าเฝ้าชมพระบารมี ครั้นเห็นพระกุมาร จึงทำนายว่า พระกุมารนี้ถ้าอยู่ครองราชย์สมบัติจะได้เป็นพระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าเสด็จออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก
เมื่อพระกุมารประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะให้มีพิธีขนานนามและทำนายลักษณะของพระกุมาร โดยการเชิญพราหมณ์ 108 คน มาประชุม และได้ขนานพระนามของพระโอรสว่า สิทธัตถะ แปลว่า ผู้มีความสำเร็จสมปรารถนา (จงจรัส แจ่มจันทร์และสุพน ทิมอ่ำ 2552 : 8) จากนั้นพราหมณ์ได้ทำนายลักษณะของพระกุมาร พรหมาณ์ส่วนใหญ่ได้ทำนายเหมือนกับที่อสิตดาบสได้ทำนายไว้ มีเพียงพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งชื่อ โกณฑัญญะ ทำนายว่า พระกุมารจะเสด็จออกบวช และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน
เมื่อพระกุมารประสูติได้ 7 วัน พระมารดาก็สวรรคต พระเจ้าสุทโธทนะ จึงโปรดให้พระนางปชาบดีโคตรมีซึ่งเป็นพระขนิษฐา (น้องสาว) ของพระนางสิริมหามายาทรงเลี้ยงดูกุมารต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะต้องการให้พระราชโอรสครองราชย์สมบัติต่อจากพระองค์ ไม่ต้องการให้เสด็จออกบวช ครั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญวัยอันสมควรที่จะได้รับการศึกษาเล่าเรียน พระองค์จึงทรงให้เข้าศึกษาวิชาความรู้ในสำนักครูวิศวามิตร เจ้าชายสิทธัตถะทรงขยันหมั่นเพียร มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถศึกษาวิชาความรู้ต่าง ๆ จนจบในเวลาอันรวดเร็ว
ครั้นเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุ 16 พรรษา พระเจ้าสุทโธทนะทรงโปรดให้สร้างปราสาท 3 หลัง ให้เป็นที่ประทับอย่างสุขสบายทั้ง 3 ฤดู และทรงขอเจ้าหญิงยโสธราหรือพิมพามาอภิเษกสมรสเป็นชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ ด้วยมีพระประสงค์จะโน้มน้าวจิตใจให้เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ครองราชสมบัติ
เจ้าชายสิทธัตถะทรงประทับอยู่ในปราสาททั้ง 3 หลัง อย่างสุขสบายวันหนึ่งได้เสด็จประพาสพระนคร ทรงพบเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายและนักบวชทั้ง 4 นี้ รวมเรียกว่า เทวทูต เจ้าชายสิทธัตถะทรงสลดพระทัยที่เห็นคนแก่ คนเจ็บและคนตาย ทรงพอพระทัยที่เห็นนักบวช พระองค์ทรงนำสิ่งที่พบเห็นมาพิจารณาไตร่ตรอง ทรงพบว่า ชีวิตนี้มีแต่ความทุกข์ ทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ ทรงคิดว่าชีวิตการครองเรือนของพระองค์แม้จะเป็นกษัตริย์ที่มีสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง แต่ก็ยังคับแคบจำกัด ไม่มีทางแก้ไขให้ตนเองและผู้อื่นได้พ้นจากความทุกข์ได้ มีทางเดียวเท่านั้นที่จะคิดหาทางพ้นทุกข์ได้ คือ การออกบวช
เจ้าชายสิทธัตถะทรงครุ่นคิดเร่องการเสด็จออกบวชอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งพระชนมายุ 29 พรรษา พระนางยโสธราประสูติพระโอรสพระนามว่า ราหุล แม้ว่าจะทรงห่วงใยพระโอรส แต่ด้วยมีพระประสงค์ที่จะหาทางช่วยเหลือชาวโลกให้พ้นทุกข์ หากอยู่อย่างนี้ต่อไปคงไม่มีทางพ้นทุกข์ได้ ดังนั้นในกลางดึกคืนนั้น พระองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกบวช โดยทรงม้าพระที่นั่งชื่อ กัณฐกะ และมีนายฉันนะ มหาดเล็กคนสนิทตามเสด็จ
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จมาถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ซึ่งเป็นแม่น้ำแบ่งเขตแดนระหว่างแคว้นสักกะ แคว้นโกศล และแคว้นวัชชี ทรงปลงผม โกนหนวดทิ้ง ทรงครองเพศเป็นนักบวช แล้วส่งนายฉันนะและม้ากัณฐกะกลับกรุงกบิลพสดุ์ จากนั้นพระองค์เสด็จไปยังแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองเมืองราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ทราบข่าวการเสด็จมาของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงเสด็จออกไปต้อนรับและทรงเชิญให้ครองเมืองด้วยกันแต่พระสิทธัตถะทรงปฏิเสธ จากนั้นได้เสด็จไปยังสำนักอาฬารดาบส และสำนักอุทกดาบส ทรงศึกษาและค้นคว้าอยู่ที่สำนักทั้งสองนี้ จนสำเร็จฌานชั้นสูง แต่ทรงเห็นว่าไม่ใช่หนทางที่จะพ้นทุกข์เพราะรู้ว่าจิตใจของพระองค์ยังมีรัก โลภ ดกรธ หลง จึงอำลาอาจารย์ทั้งสองไปบำเพ็ญพียรด้วยตนเอง โดยเสด็จมุ่งหน้าสู่ตำบลอุรุเวลาเสนาคนิคม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในตำบลพุทธคยา ประเทศอินเดีย