
ทศชาติชาดก หมายถึง ชาติทั้งสิบของพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะมาประสูติเป็นพระพุทธเจ้า
เตมียชาดก (อ่านว่า เต-มิ-ย-ชา-ดก)
พระโพธิ์สัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์ โอรสของพระเจ้ากาสิกราช แห่งกรุงพาราณสี เมื่อพระชนม์มายุเพียง ๑ เดือน ก็ทรงตระหนักว่าการเป็นกษัตริย์นั้นทำบาป ต้องสั่งลงโทษผู้อื่นที่ทำผิด จึงอธิษฐานทำตนเป็นใบ้ และง่อยเปลี้ยเสียขา พระบิดาจึงให้โหรหลวงทำนาย ได้ความว่า พระองค์เป็นกาลกิณีแก่ราชวงศ์ให้นำไปฝังทั้งเป็น แต่ก่อนที่พระองค์จะถูกฝังก็แสดงพระองค์ว่า ไม่ได้เป็นคนพิการ ทรงเดินได้เป็นปกติ และทรงยกรถได้ด้วยพระกำลังอันเป็นบารมี และเล่าความจริงให้สารถีที่กำลังขุดหลุมเพื่อฝังพระองค์ว่า พระองค์ไม่ต้องการเสวยราชสมบัติ จึงแกล้งทำเป็นคนพิการ ต่อจากนั้นได้เสด็จออกบวช ชาดกเรื่องนี้ เน้นให้เห็นการบำเพ็ญ “เนกขัมบารมี” คือละทิ้งราชสมบัติ
มหาชนกชาดก (อ่านว่า มะ – หา – ชะ –นก – ชา –ดก)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญวิริยบารมี ความพากเพียร ใจความสำคัญคือ พระมหาชนกราชกุมารเดินทางไปทางทะเล เรือแตกคนทั้งหลายจมน้ำตายบ้างถูกสัตว์ทะเลกินเป็นอาหารบ้าง แต่ไม่ทรงละความวิริยะอุตสาหะ ทรงว่ายน้ำโดยกำหนดทิศทางแห่งกรุงมิถิลา ในที่สุดก็ได้รอดชีวิตกลับไปถึงกรุงมิถิลา ได้ครองราชย์สมบัติ ชาดกเรื่องนี้เป็นที่มาแห่งภาษิตที่ว่า เป็นชายควรเพียรร่ำไป อย่าเบื่อหน่าย (ความเพียร) เสีย, เราเห็นตัวเองเป็นได้ที่ปรารถนา, ขึ้นจากน้ำมาสู่บกได้
สุวรรณสามชาดก (อ่านว่า สุ – วัน – นะ – สาม –ชา –ดก)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญเมตตาบารมี คือการแผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขถ้วนหน้า มีเรื่องเล่าว่า สุวรรณสามเลี้ยงบิดามารดาของตน ซึ่งเสียจักษุในป่า และเนื่องจากเป็นผู้เมตตาและปรารถนาดีต่อผู้อื่น หมู่เนื้อก็เดินตามแวดล้อมไปในที่ต่าง ๆ วันหนึ่งถูกพระเจ้ากรุงพาราณสีชื่อ ปิลยักษ์ยิงเอาด้วยธนูด้วยเข้าพระทัยผิด ภายหลังเมื่อทราบว่าเป็นมาณพ ผู้เลี้ยงมารดาบิดาก็สลดพระทัย จึงไปจูงบิดามารดาของสุวรรณสามมา มารดาและบิดาของสุวรรณสามก็ตั้งสัจจกิริยา อ้างคุณความดีของสุวรรณสามขอให้พิษของศรหมดไป สุวรรณสามก็ฟื้นคืนสติและได้สอนพระราชาแสดงคติธรรมว่า ผู้ใดเลี้ยงบิดามารดาโดยธรรม แม้เทวดาก็ย่อมรักษาผู้นั้น ย่อมมีคนสรรเสริญในโลกนี้และในโลกหน้าไปแล้วก็บันเทิงในสวรรค์ ต่อจากนั้นเมื่อพระราชาขอให้สั่งสอนต่อไปอีก ก็สอนให้ทรงปฏิบัติธรรมปฏิบัติชอบในบุคคลทั้งปวง
เนมิราชชาดก (เน – มิ – ราด – ชา – ดก)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึง การบำเพ็ญอธิฏฐานบารมี คือความตั้งใจมั่นคง มีเรื่องเล่าว่าเนมิราชกุมาร ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อจากพระบิดา ทรงบำเพ็ญคุณงามความดีเป็นที่รักของมหาชน และในที่สุดเมื่อทรงชราภาพ ก็ทรงมอบราชสมบัติแก่พระโอรส แล้วเสด็จออกผนวชเช่นเดียวกับพระราชบิดาของพระองค์ที่เคยทรงบำเพ็ญมา
มโหสถชาดก (อ่านว่า มะ – โห – สด – ชา – ดก)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญปัญญาบารมี คือความรู้ทั่วถึงสิ่งที่ควรรู้ มีเรื่องเล่าว่า มโหสถบัณฑิตเป็นที่ปรึกษาหนุ่มของพระเจ้าวิเทหะราชแห่งกรุงมิถิลา ท่านมีความฉลาดรอบรู้ สามารถแนะนำในปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องรอบคอบ เอาชนะที่ปรึกษาอื่น ๆ ที่ริษยาใส่ความ ด้วยความดีไม่พยาบาทอาฆาต ครั้งหลังใช้อุบายป้องกันพระราชาจากราชศัตรู และจับราชศัตรูซึ่งเป็นกษัตริย์พระนครอื่นได้
ภูริทัตชาดก (อ่านว่า พู – ริ – ทัด – ชา – ดก)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญศีลบารมี คือการรักษาศีล มีเรื่องเล่าว่า ภูริทัตตนาคราช ไปจำศีลอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ยอมอดทนให้หมองูจับไปทรมานต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่สามารถจะทำลายหมองูได้ด้วยฤทธิ์ มีใจมั่นต่อศีลของตนในที่สุดก็ได้อิสรภาพ
จันทกุมารชาดก (อ่านว่า จัน – ทะ – กุ – มาน – ชา – ดก)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึง การบำเพ็ญขันติบารมี คือความอดทน มีเรื่องเล่าว่า จันทกุมาร เป็นโอรสของพระเจ้าเอกราช เคยช่วยประชาชนให้พ้นจากคดี ซึ่งกัณฑหาลพราหมณ์ ราชปุโรหิตรับสินบนตัดสินไม่เป็นธรรม ประชาชนก็พากันเลื่อมใส ทำให้พราหมณ์ผูกอาฆาตในพระกุมาร เมื่อพระเจ้าเอกราชทรงพระราชสุบิน เห็นดาวดึงเทวโลก เมื่อตื่นบรรทมทรงใคร่จะทราบทางไปสู่เทวโลก ตรัสถาม กัณฑพราหมณ์ จึงเป็นโอกาสให้พราหมณ์แก้แค้น ด้วยการกราบทูลให้ตัดพระเศียร พระโอรส ธิดา บูชายัญ พระเจ้าเอกราชเป็นคนเขลา ก็สั่งจับพระราชโอรสสี่พระองค์ และคนอื่น ๆ อีกเพื่อเตรียมประหารเช่นกัน แม้ใครจะทัดทานขอร้องก็ไม่ได้ผล ร้อนถึงท้าวสักกะ (พระอินทร์) ต้องมาข่มขู่และชี้แจงให้หายเข้าใจผิดว่า วิธีนี้ไม่ใช่ทางไปสวรรค์ ประชาชนจึงรุมฆ่าพราหมณ์นั้นและเนรเทศพระเจ้าเอกราช แล้วกราบทูลเชิญ จันทกุมารขึ้นครองราชย์
พรหมนารทชาดก (อ่านว่า พรม – มะ – นาด – ชา – ดก, พรม – มะ – นา – ระ – ทะ – ชา – ดก)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึง การบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือ คือการวางเฉย มีเรื่องเล่าว่า พรหมนารทะช่วยพระเจ้าอังคติราชให้กลับจากความเห็นผิด มามีความเห็นชอบตามเดิม (ความเห็นผิดนั้น เป็นไปในทางสุขทุกข์เกิดเองไม่มีเหตุ คนเราเวียนว่ายตายเกิด หนักเข้าก็บริสุทธิ์ได้เอง ซึ่งเรียกว่า สังสารสุทธิ)
วิธูรบัณฑิตชาดก (อ่านว่า วิ – ทู – ระ – บัน – ดิด – ชา – ดก)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึง การบำเพ็ญสัจจบารมี คือ ความสัตย์ เรื่องเล่าถึงวิธูรบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้ที่ถวายคำแนะนำประจำราชสำนัก พระเจ้าธนัยไชยโกรัพยะ เป็นผู้ที่พระราชาและประชาชนรักใคร่ เคารพนับถือมาก ครั้งหนึ่งปุณณกะยักษ์มาท้าพระเจ้าธณัญชัยโกรัพยะเล่นสกา ถ้าแพ้จะถวายมณีรัตนอันวิเศษ ถ้าพระราชาแพ้ ก็จะพระราชทานทุกสิ่งที่ต้องการ เว้นแต่พระกายของพระองค์ ราชสมบัติและมเหสี ในที่สุดพระราชาแพ้ปุณณกยักษ์ จึงทูลขอตัววิธูรบัณฑิต พระราชาจะไม่ประทานก็เกรงเสียสัตย์ พระองค์ตีราคาวิธูรบัณฑิตยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองใด ๆ ทรงหน่วงเหนี่ยวด้วยประการต่าง ๆ แต่ก็ตกลงกันไปไต่ถามให้วิธูรบัณฑิตตัดสินให้รักษาสัตย์ คือตนเองยอมไปกับยักษ์ ความจริงยักษ์ต้องการเพียงเพื่อจะนำหัวใจของวิธูรบัณฑิต ไปแลกกับธิดาพญานาค ซึ่งความจริงเป็นอุบายของภริยาพญานาคผู้ใคร่จะได้สดับธรรมของวิธูรบัณฑิต จึงตกลงกับสามีว่า ถ้าปุณณยักษ์ต้องการธิดาของตน ก็ขอให้นำหัวใจของวิธูรบัณฑิตมา แม้ยักษ์จะหาวิธีทำให้ตายก็ไม่ตาย วิธูรบัณฑิตกลับแสดงสาธุนรธรรม (ธรรมของคนดี) ให้ยักษ์เลื่อมใสและได้แสดงธรรมแก่พญานาค
เวสสันดรชาดก (อ่านว่า เวด – สัน – ดอน – ชา – ดก)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึง การบำเพ็ญทานบารมี คือ การบริจาคทาน มีเรื่องเล่าถึงพระเวสสันดร ผู้ใจดีบริจาคทุกอย่างที่มีคนขอ ครั้งหนึ่งประทานช้างเผือกคู่บ้านคู่เมืองแก่พราหมณ์ชาวกาลิงคราช ที่มาขอช้างไปเพื่อให้หายฝนแล้ง แต่ประชาชนโกรธขอให้เนรเทศ พระราชบิดาจึงจำพระทัยเนรเทศ ซึ่งพระนางมัทรีพร้อมด้วยพระโอรสธิดาได้ตามเสด็จไปด้วย เมื่อชูชกไปขอสองกุมาร ก็ประทานอีก ภายหลังพระเจ้าสัญชัย พระราชบิดาทรงไถ่สองกุมารและเสด็จไปรับกลับ (เรื่องนี้แสดงการเสียสละส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ คือการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อันจะเป็นทางให้ได้บำเพ็ยประโยชน์ต่อส่วนรวม ได้ดียิ่งมิใช่เสียสละโดยไม่มีจุดมุ่งหมายหรือเหตุผล)