โคลงพระสุริโยทัยขาดคอช้าง

โคลงพระสุริโยทัยขาดคอช้าง แต่งด้วยคำประพันธ์ โคลงสี่สุภาพ จำนวน 6 บท คุณธรรมที่พระสุริโยทัยได้กระทำไว้มีดังนี้
1. ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว
2. ความเสียสละ
3. ความกตัญญู

โคลงพระสุริโยทัยขาดคอช้าง 6 บท

บทที่ 1

บุเรงนองนามราชเจ้า                            จอรามัญเฮย

ยกพยุหแสนยา                                    ยิ่งแกล้ว

มอญม่านประมวลมา                             สามสิบหมื่นแฮ

ถึงอยุธเยศแล้ว                                    หยุดใกล้นครา

คำอธิบายศัพท์

ม่าน        หมายถึง                                พม่า

รามัญ     หมายถึง                                มอญ

ถอดคำประพันธ์

บุเรงนองกษัตริย์พม่ายกกองทัพที่มีแสนยานุภาพกล้าหาญยิ่ง  ทั้งทัพมอญและทัพพม่ารวมแล้วสามแสนคน  เดินทางมาถึงอยุธยาแล้วพักกองทัพอยู่นอกเมือง

บทที่ 2

พระมหาจักรพรรดิเผ้า                          ภูวดล  สยามเฮย

วางค่ายรายรี้พล                                  เพียบหล้า

ดำริจักใคร่ยล                                      แรงศึก

ยกนิกรทัพกล้า                                    ออกตั้งกลางสมร

คำอธิบายศัพท์

นิกร                        หมายถึง                                หมู่  พวก

เผ้าภูวดล               หมายถึง                                เผ้า  คือ  ส่วนที่สูงที่สุดของศีรษะ  ภูวดล  คือ  แผ่นดิน

เผ้าภูวดล  หมายถึง  พระเจ้าแผ่นดิน

สมร                        หมายถึง                                สนามรบ

ถอดคำประพันธ์

พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยาม  วางกำลังพลเพื่อเตรียมรับศึกมีพระราชดำรัสจะเสด็จไปดูข้าศึก  จึงยกกองทัพออกไปตั้งกลางสนามรบ

บทที่ 3

บังอรอัครเรศผู้                    พิสมัย  ท่านนา

นามพระสุริโยทัย                                ออกอ้าง

ทรงเครื่องยุทธพิไชย                          เช่นอุป  ราชแฮ

เถลิงคชาธารคว้าง                              ควบเข้าขบวนไคล

อธิบายศัพท์

                                คชาธาร                 หมายถึง                ช้างทรง  ช้างพระที่นั่ง

คว้าง                       หมายถึง                เคลื่อนลอยไปอย่างรวดเร็ว

เครื่องยุทธพิไชย  หมายถึง                เครื่องแต่งกายที่แต่งออกรบ

เถลิง                       หมายถึง                ขึ้น  ใช้กับสิ่งสำคัญ  เช่น เถลิงถวัลยราชสมบัติ  เถลิงศก

บังอร                      หมายถึง                นาง

ถอดคำประพันธ์

พระมเหสีผู้ต้องพระราชหฤทัย  นามว่า  พระศรีสุริโยทัย  ทรงเครื่องแต่งกายแบบนักรบเหมือนพระมหาอุปราช  ทรงช้างพระที่นั่งตามกระบวนเสด็จด้วย

บทที่ 4

พลไกรกองหน้าเร้า             โรมรัน  กันเฮย

ช้างพระเจ้าแปรประจัญ                     คชไท้

สารทรงซวดเซผัน                             หลังแล่น  เตลิดแฮ

ตะเลงขับคชไล่ใกล้                            หวิดท้ายคชาธาร

อธิบายศัพท์

เตลง       หมายถึง                                ตะเลงเป็นชื่อที่ใช้เรียกชนชาติมอญ  พงศาวดารไทยมักเรียก

กองทัพพม่าว่ากองทัพตะเลง  เนื่องจากพม่าเกณฑ์เอาพวกมอญ

ผู้ตกอยู่ในปกครองมาเป็นไพร่พลในการรบเป็นจำนวนมาก

ไท้           หมายถึง                                ผู้เป็นใหญ่  หมายถึง  พระมหากษัตริย์

ประจัญ  หมายถึง                                ปะทะต่อสู้

โรมรัน   หมายถึง                                รบพุ่งกัน

แล่น       หมายถึง                                วิ่ง

สาร         หมายถึง                                ช้างใหญ่

ถอดคำประพันธ์

ทัพหน้าของทั้งสองฝ่ายเข้าต่อสู้กัน  ช้างทรงของพระเจ้าเมืองแปรเข้าต่อสู้กับช้างทรงของพระมหาจักรพรรดิ  ช้างทรงของพระมหาจักรพรรดิเสียทีให้หลังข้าศึก  พระเจ้าเมืองแปรจึงขับช้างไล่ช้างของพระมหาจักรพรรดิ

บทที่ 5

นางคราญองค์เอกแก้ว                        กษัตรี

มานมนัสกตเวที                                                  ยิ่งล้ำ

เกรงพระราชสามี                                                มลายพระ  ชนม์เฮย

ขับคเชนทรเข่นค้ำ                                               สะอึกสู้ดัสกร

อธิบายศัพท์

ดัสกร                     หมายถึง                                ข้าศึก

นงคราญ                หมายถึง                                นางงาม,  สาวงาม

มนัส                       หมายถึง                                ใจ

มาน                        หมายถึง                                มี

คเชนทร                                หมายถึง                                ช้าง

ถอดคำประพันธ์

พระสุริโยทัยมีพระทัยอันกตัญญูกตเวทีต่อพระสวามีกลัวว่าจะสิ้นพระชนม์  จึงทรงขับช้างพระที่นั่งเข้าต่อสู้กับศัตรู

บทที่ 6

ขุนมอญร่อนง้าวฟาด          ฉาดฉะ

ขาดแล่งตราบอุระ                               หรุบดิ้น

โอรสรีบกันพระ                                  ศพสู่นครแฮ

สูญชีพไป่สูญสิ้น                                 พจน์ผู้สรรเสริญ

อธิบายศัพท์

ขุนมอญ                 หมายถึง                                พระเจ้าแปร  กษัตริย์พม่า

ถอดคำประพันธ์

พระเจ้าแปรฟาดพระแสงของ้าวใส่พระอุระขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์  พระราชโอรสจึงทรงรีบกันพระศพเข้าสู่พระนคร  แม้พระองค์จะสิ้นพระชนม์ลงแล้ว  แต่ยังไม่สิ้นผู้สรรเสริญ

ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง พระสุริโยทัยขาดคอช้าง

๑.      ความกตัญญูกตเวที  ความเสียสละ  เป็นคุณธรรมของคน

๒.    ผู้ที่กระทำความดีย่อมได้รับการสรรเสริญ  แม้ว่าจะสิ้นชีวิตไปแล้วก็ตาม

๓.     ผู้หญิงก็สามารถที่จะช่วยเหลือประเทศชาติได้เช่นเดียวกับผู้ชาย

โคลงพระสุริโยทัยขาดคอช้าง
โคลงพระสุริโยทัยขาดคอช้าง
Veradet.com
Logo
Shopping cart