เสียงในภาษาคือ เสียงที่มนุษย์เปล่งขึ้นเพื่อสื่อสารกัน เพื่อสนองความต้องการต่าง ๆ เช่น ซักถาม ขอความช่วยเหลือ หรือแสดงอารมณ์ความรู้สึก
เสียงในภาษาเกิดจากการใช้อวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ปอด หลอดลม กล่องเสียง ลิ้นไก่ ส่วนต่าง ๆ ในช่องปาก ได้แก่ เพดานปาก ปุ่มเหงือก ฟัน ลิ้น และจมูกทำงานประสานกันจนเกิดเสียงขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมายระหว่างมนุษย์
เสียงในภาษาไทย มี ๓ ชนิด คือ เสียงสระ เสียงพยัญชนะ และเสียงวรรณยุกต์
๑. เสียงสระ คือ เสียงที่เปล่งออกมาจากลำคอโดยตรง เสียงสระมักจะออกเสียงได้ยาวนานและเป็นเสียงก้อง มี ๒๔ เสียง คือ
- เสียงสระแท้หรือสระเดี่ยว มี ๑๘ เสียง ได้แก่
สระเสียงสั้น (รัสสระ) | สระเสียงยาว (ฑีฆสระ) |
อะ อิ อึ อุ เอะ แอะ โอะ เอาะ เออะ | อา อี อื อู เอ แอ โอ เอา เออ |
- เสียงสระประสมหรือสระเลื่อน เกิดจากสระแท้สองเสียงประสมกัน อ่านออกเสียงด้วยความเร็วและน้ำหนักของเสียงเท่ากันจึงเลื่อนเสียงเกิดเป็นเสียงสระใหม่ ๖ เสียงคือ
สระเสียงสั้น | สระเสียงยาว |
เอียะ (อิ+อะ) เอือะ (อึ+อะ) อัวะ (อุ+อะ) | เอีย (อี+อา) เอือ (อื+อา) อัว (อู+อา) |
สรุป
สระ | สระหน้า | สระกลาง | สระหลัง |
สระแท้ | อิ อึ เอะ เอ แอะ แอ | อะ อา อึ อื เออะ เออ | อุ อู โอะ โอ เอาะ ออ |
สระประสม | เอียะ เอีย | เอือะ เอือ | อัวะ อัว |
๒. เสียงพยัญชนะ คือเสียงที่เปล่งออกมากระทบส่วนใดส่วนหนึ่งตั้งแต่ลำคอ อวัยวะในช่องปากและช่องจมูก พยัญชนะในภาษาไทยมี ๔๔ รูป ๒๑ เสียง คือ
- เสียง ก ได้แก่ ก
- เสียง ค ได้แก่ ข ฃ ค ฅ ฆ
- เสียง ง ได้แก่ ง
- เสียง จ ได้แก่ จ
- เสียง ช ได้แก่ ช ฌ ฉ
- เสียง ซ ได้แก่ ซ ศ ษ ส (ทร อ่านออกเสียงเป็น ซ)
- เสียง ด ได้แก่ ด ฎ
- เสียง ต ได้แก่ ต ฏ
- เสียง ท ได้แก่ ท ธ ฑ ฒ ฐ ถ
- เสียง น ได้แก่ น ณ
- เสียง บ ได้แก่ บ
- เสียง ป ได้แก่ ป
- เสียง พ ได้แก่ พ ภ ผ
- เสียง ฟ ได้แก ฟ ฝ
- เสียง ม ได้แก่ ม
- เสียง ย ได้แก่ ย ญ
- เสียง ร ได้แก่ ร
- เสียง ล ได้แก่ ล ฬ
- เสียง ว ได้แก่ ว
- เสียง ฮ ได้แก่ ฮ
- เสียง อ ได้แก่ อ
เสียงพยัญชนะควบกล้ำ ได้แก่ พยัญชนะ ๒ เสียงที่อ่านออกเสียงพร้อมกัน มักอยู่ในตำแหน่งต้นพยางค์เท่านั้นและพยัญชนะตัวที่มาอ่านออกเสียงควบกล้ำกับพยัญชนะตันจะมี ๓ รูป คือ ร ล และ ว เช่น กราบ กรุย กราย เกลา กวาด กวัด ตรวจ ผลาญ เป็นต้น
๓. เสียงวรรณยุกต์ คือเสียงที่เปล่งออกมาแล้วมีระดับเสียงสูงต่ำ เสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยมี ๕ เสียง ๔ รูป ดังนี้
- สามัญ เช่น มา ไกว พลาง ชิง
- เสียงเอก เช่น ผลุบ หมาก จด กวัก กิ่ว
- เสียงโท เช่น พริก ค่า เฝ้า เจ้า บ้าน
- เสียงตรี เช่น ทิ้ง ร้อย คลุก ชี้
- เสียงจัตวา เช่น โหย หวาม ขาน สวย