คำคล้องจอง คือ คำที่มีเสียงสระเดียวกัน หรือ คำที่มีตัวสะกดอยู่ในมาตราเดียวกัน ส่วนรูปและเสียงวรรณยุกต์จะเหมือนหรือแตกต่างกันก็ได้ คำคล้องจองมีทั้ง 1,2 และ 3 พยางค์
ลักษณะของคำคล้องจอง
คำคล้องจอง 1 พยางค์
แบบไม่มีตัวสะกด หมายถึง คำ 1 พยางค์ ที่มีสระเหมือนกัน พยัญชนะต้นต่างกัน รูปและเสียงวรรณยุกต์ไม่เหมือนกันก็ได้ แต่ต้องเป็นคำที่มีความหมาย ตัวอย่างคำคล้องจอง 1 พยางค์ที่มีสระเดียวกัน เช่น
- กา ขา
- มี – สี
- มือ – ดื้อ
- เสือ – เรือ
แบบมีตัวสะกด หมายถึง คำ 1 พยางค์ที่มีสระเหมือนกัน พยัญชนะต้นต่างกัน และถ้ามีตัวสะกดจะต้องมีตัวสะกดในมาตราเดียวกัน รูปและเสียงของวรรณยุกต์ไม่เหมือนกันก็ได้ แต่ต้องเป็นคำที่มีความหมาย เช่น
- กาว – ขาว
- หาง – ต่าง
- สาย – จ่าย
- กล้วย – รวย
คำคล้องจอง 2 พยางค์
แบบไม่มีตัวสะกด หมายถึง คำ 2 พยางค์ที่มีสระเดียวกัน พยัญชนะต้นต่างกัน รูปและเสียงวรรณยุกต์ไม่เหมือนกันก็ได้ แต่ต้องเป็นคำที่มีความหมาย การเขียนคำคล้องจองสองพยางค์ ให้สังเกตพยางค์ที่สอง
ตัวอย่างคำคล้องจองที่มีสระเดียวกัน และเป็นคำที่มี 2 พยางค์ เช่น
- มานา – ทาสี
- เกาหัว – ถั่วแระ
- ปลาหมอ – รอเธอ
ตัวอย่างคำคล้องจอง 2 พยางค์แบบมีตัวสะกด เช่น
- นักเรียน – เขียนอ่าน
- ดวงดาว – สาวงาม
- ไปเที่ยว – เลี้ยวขวา
คำคล้องจอง 3 พยางค์
คือคำที่มี 3 พยางค์ท้ายของคำแรก คล้องจองกับพยางค์แรกหรือพยางค์ที่สองของของคำหลัง ตัวอย่างเช่น
- เด็กน่ารัก มักพูดดี มีน้ำใจ รักใคร่กัน ในกลุ่มคำเหล่านี้มีคำว่า รัก คล้องจองกับคำว่ารัก ดี คล้องจองกับคำว่า มี และคำว่า ใจ คล้องจองกับคำว่า ใคร่
คำคล้องจอง 4 พยางค์
คำคล้องจอง 4 พยางค์ คือ กลุ่มคำที่มี 4 พยางค์ คำสุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์แรกหรือพยางค์ที่ สอง สาม สี่ ของกลุ่มคำหลังที่อยู่ถัดไป คำคล้องจอง 4 พยางค์ มี 4 ลักษณะดังนี้
- คำคล้องจอง 4 พยางค์ ที่พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์แรกของกลุ่มคำหลัง เช่น
– ร้านขายหนังสือ ถือของมากมาย
– ผ้านี้แสนสวย ช่วยให้โดดเด่น
– ยายเล่านิทาน สานสายสัมพันธ์ - คำคล้องจอง 4 พยางค์ ที่พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์ที่สองของกลุ่มคำหลัง เช่น
– เด็กไทยวันนี้ ต้องดีต้องเก่ง รีบเร่งค้นคว้า สืบหาความรู้
– ออกกำลังกาย มากมายประโยชน์ ไร้โทษเพิ่มสุข ไร้ทุกข์แข็งแรง
– เจ้าปลาตัวน้อย ล่องลอยในน้ำ แสนสำราญใจ อยู่ในลำคลอง - คำคล้องจอง 4 พยางค์ ที่พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์ที่สามของกลุ่มคำหลัง เช่น
– นั่งมองท้องฟ้า แสงจันทราส่อง สีเหลืองทองนวล พาชวนให้ฝัน
– ยุคสินค้าแพง กินข้าวแกงอิ่ม ซื้อของริมทาง ค้าขายกลางเมือง - คำคล้องจอง 4 พยางค์ ที่พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์ที่สี่ของกลุ่มคำหลัง เช่น
– หมอเพลงลำแคน แห่งเมืองขอนแก่น อีสานดินแดน มีค่านับแสน
– ชีวิตย้ำแย่ จงอย่าท้อแท้ ตั้งใจแน่วแน่ ให้เร่งคิดแก้