
พระพุทธศาสนาสอนให้คนทำความดีอยู่เสมอ โดยไม่ต้องเลือกว่าจะทำวันใดเวลาใด ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาจึงเป็นโอกาสดีที่พุทธศาสนิกชนควรน้อมระลึกถึงพระคุณพระรัตนตรัยและการกระทำความดีมากเป็นพิเศษ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า ได้แก่ วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันธรรมสวนะ
วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา คือ การบูชาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เพื่อน้อมระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า 3 เหตุการณ์ ได้แก่ การประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เหตุการณ์ทั้ง 3 นี้แม้จะเกิดต่างปีกัน แต่ก็ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหมือนกัน
การปฏิบัติตนในวันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ถือว่าเป็น วันพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติตนและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นพุทธบูชา ดังนี้
- ทำบุญตักบาตรหรือให้ทานอื่น ๆ เช่นบริจาคโลหิต ไถ่ชีวิตโคกระบือ ปล่อยนกปล่อยปลา เป็นต้น
- ฟังธรรมที่วัดหรือทางวิทยุ โทรทัศน์
- รักษาศีล 5 หรือ ศีล 8 แล้วแต่ความเหมาะสม
- ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยการฝึกสมาธิ
- บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ต่าง ๆ เช่นปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดวัด เป็นต้น
- นำดอกไม้ธูปเทียนไปเวียนเทียนที่วัด หรือสถานที่ที่กำหนด
วันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา คือ การบูชาในวันขึ้น 15 เดือน 3 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณ
พระรัตนตรัย และเหตุการณ์สำคัญ 4 เหตุการณ์ คือ
- เป็นวันจันทร์เต็มดวง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
- เป็นวันที่พระสงฆ์ 1,250 รูป มาประชุมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ
- พระสงฆ์ที่มาประชุมกันเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งหมด
- พระสงฆ์ที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์
นับว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่เหตุการณ์สำคัญทั้ง 4 เกิดขึ้นพร้อมกันและเกิดขึ้นครั้ง
เดียวในพระพุทธศาสนา จึงเรียกวันนี้ว่า จาตุรงคสันนิบาต
เมื่อพระสงฆ์มาประชุมพร้อมเพรียงกัน พระพุทธเจ้าทรงประกาศหลักการของพระพุทธศาสนา และแนวปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โอวาท 3 ได้แก่
- ละเว้นการทำชั่ว
- กระทำแต่ความดี
- ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส
การปฏิบัติตนในวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศหลักการของพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติตนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตามความ
เหมาะสม เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล บำเพ็ญสาธารณประโยชน์
วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา คือ การบูชาในวันขึ้น 15 เดือน 8 เพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์คือ
- เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรกเรียกว่า ปฐมเทศนา ธรรมที่แสดงชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัฒนสูตร โดยแสดงแก่ปัจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใจความของธรรมที่แสดงกล่าวถึง อริยสัจ 4
- เป็นวันที่พระสงฆ์สาวกองค์แรกเกิดขึ้นในโลก คือเมื่อโกณฑัญญะ เกิดความเข้าใจธรรม เพราะได้ฟังปฐมเทศนาก็ได้กราบทูลขอบวชเป็นพระภิกษุองค์แรกในพระพุทธศาสนา
- เป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
การปฏิบัติตนในวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญที่มีพระสงฆ์องค์แรกเกิดขึ้นในโลกจึงถือว่าเป็น
วันพระสงฆ์ พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติตน และการเข้าร่วมกิจกรรมเช่นเดียวกันกับวันวิสาขบูชา เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล เวียนเทียน เป็นต้น
วันอัฏฐมีบูชา
วันอัฏฐมีบูชา คือ การบูชาในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 เพื่อน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณและถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธเจดีย์ หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ 8 วัน
การปฏิบัติตน
วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เชน ทำบุญตักบาตร ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรมเทศนา เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ปัจจุบันการประกอบ พิธีกรรมในวันอัฏฐมีบูชา นิยมทำกันเฉพาะทางฝ่ายพระสงฆ์เท่านั้น
วันธรรมสวนะ
วันธรรมสวนะ หมายถึง วันประชุมถือศีล ฟังธรรม เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันพระ ในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งมีกำหนดวันพระไว้ 4 วัน คือวันขึ้น 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ วันแรม 8 ค่ำ วันแรม 15 ค่ำ หรือวันแรม 14 ค่ำในบางเดือน
การปฏิบัติตนในวันธรรมสวนะ
วันธรรมสวนะหรือวันพระ เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันหลักแห่งการทำดี พุทธศาสนิกชนจึงได้ถือวันธรรมสวนะหรือวันพระ เป็นวันสำคัญมาแต่โบราณแล้ว และได้ทำความดีต่าง ๆ เช่น ถือศีล ให้ทาน รักษาศีล ทำสมาธิ ฟังพระธรรมเทศนา รวมทั้งหยุดทำบาปทั้งหลายทั้งปวง