ภูมิปัญญาไทย หมายถึง ความรู้และประสบการณ์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับ การสังเกต การปฏิบัติ จนสามารถคิดค้นดัดแปลงและพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพ
๑. ภูมิปัญญาด้านที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยของคนไทยจะปรับตัวสัมพันธ์กับพื้นที่ เช่น บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ จะสร้างบ้านใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม บริเวณที่สูง จะปลูกบ้านที่มีหน้าต่างน้อยเพื่อป้องกันลมหนาว ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นเอกลักษณ์ของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น
๒. ภูมิปัญญาด้านอาหาร อาหารไทยจะมีส่วนประกอบของสมุนไพรรวมอยู่ด้วย (ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กะเพรา) ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีการตกแต่งอาหารให้สวยงาม แกะสลักผักผลไม้ น่ารับประทานอาหารหวานก็ปั้นเป็นรูปร่างสวยงาม อาหารไทยเป็นที่นิยมไปทั่วโลก
๓. ภูมิปัญญาเครื่องนุ่งห่ม คนไทยทอผ้าฝ้ายผ้าไหมใช้กันเอง รู้จักเลือกวัสดุที่เหมาะสมกับอากาศเพราะถ่ายเทความร้อนได้ดี และยังมีความประณีต รู้จักคิดประดิษฐ์ลวดลาย และย้อมสีผ้าทำให้ผ้าไทยมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของตน เช่น ผ้าขิด ผ้าจก ผ้ายกดอก ปัจจุบันคนไทยมีชื่อเสียงระดับโลกทางด้านเครื่องนุ่งห่ม
๔. ภูมิปัญญาด้านการรักษาโรค (การแพทย์แผนไทย) การแพทย์แผนไทยและยาไทย(ยาเภสัชกรรม) เป็นการรักษาโดยใช้สมุนไพร สังคมไทยมีการรักษาเช่นนี้มาช้านาน แพทย์แผนไทยได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาโดยวิธีการรักษา หรือตำรายาของแต่ล่ะท้องถิ่นและยังมีการรักษาโดยวิธีบีบนวด ประคบ อบสมุนไพร ทำให้โลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้น เป็นการปรับสภาพความสมดุลของร่างกาย นับเป็นภูมิปัญญาของไทย
๕. ภูมิปัญญาด้านคุณธรรม จริยธรรม คนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา มีขันติธรรม ยอมรับความแตกต่างระหว่างภาษา เชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ทำให้คนในสังคมไทยอยู่รวมกันได้โดยไม่มีความขัดแย้งถือเป็นภูมิปัญญาไทยที่สำคัญ