
เทศกาลเข้าพรรษา นี่ก็ใกล้จะถึงเทศกาลวันเข้าพรรษาประจำปีแล้ว พุทธศาสนิกชนต่างก็เตรียมตัวเตรียมใจที่จะได้ร่วมงานทำบุญวันเข้าพรรษากันโดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะในชนบทที่ยังห่างไกลความเจริญ คนแก่คนเฒ่าที่ชอบอยู่ติดบ้านไม่ค่อยได้เดินทางไปไหนส่วนมากก็จะทำบุญอยู่ที่วัดบ้านเกิดหรือวัดใกล้ ๆ บ้านนั่นเอง
วันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ซึ่งตามปกติแล้ว ชายไทยซึ่งอายุครบเกณฑ์บวชก็จะเข้าบวชในช่วงเข้าพรรษาเพราะถือว่าเป็นช่วงที่จะได้ศึกษาหาความรู้ได้เต็มที่เพราะในช่วงนี้พระสงฆ์จะจำพรรษาที่วัดเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย
สำหรับความเป็นมาของวันเข้าพรรษานั้น ท่านผู้รู้หลายท่านได้เขียนเอาไว้ว่า “เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” ก็คือพระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่จำพรรษา ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาลนั้น มีหน้าที่ที่จะต้องคอยจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนทั่วไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิพระสงฆ์ที่ต้องเดินไปเหยียบต้นกล้าในนาของชาวบ้านให้เกิดความเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอดระยะเวลา ๓ เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่ วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ของทุกปี เรียกว่า “ปุริมพรรษา)
ถ้าปีใดมีเดือนแปดสองหน ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า “ปัจฉิพรรษา) เว้รแต่พระสงฆ์มีธุระแรมรอนไปค้างที่อื่นแล้วกลับไม่ทัน ก็ทรงอนุญาตให้พักแรมที่อื่นได้ โดยคราวหนึ่งไม่ให้เกิน ๗ วัน เรียกว่า “สัตตาหะ”
และในการจำพรรษาของพระสงฆ์นั้น เครื่องอัฏฐบริขารหรือสิ่งของเครื่องใช้ของพระที่ได้รับตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขาร ซึ่งประกอบด้วย
-สบง
-จีวร
-สังฆาฏิ
-เข็ม
-บาตร
-รัดประคด
-หม้อกรองน้ำ
-มีดโกน
อย่างไรก็ตามแม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์ แต่พุทธศาสนิกชน ก็ถือเอาโอกาสในช่วงนี้ได้ร่วมทำบุญ รักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใสด้วย
สำหรับพุทธศาสนิกชนหรือชาวพุทธทั้งหลาย รวมทั้งบุคคลทั่วไป ควรยึดถือปฏิบัติกิจกรรมใน
วันเข้าพรรษา คือ
-ร่วมกิจกรรมทำเทียนเพื่อถวายวัดในช่วงเข้าพรรษา
-ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่พระภิกษุสามเณร
-ร่วมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล
-อธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ
ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า