
พูดดีเป็นศรีแก่ตัว
ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ
ปากเป็นเอกเลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา
การพูดและการเขียนนั้นเป็นการสื่อความหมายให้กับผู้อื่นได้รับรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของตนเพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในชีวิตประจำวันของคนเราจำเป็นที่จะต้องมีการพูด การติดต่อสื่อสาร เพื่อสนองความต้องการดังกล่าว
หลักการพูด
การพูดที่ดีจะต้องทำให้ผู้ฟังฟังแล้วเกิดความเข้าใจตามจุดมุ่งหมายของผู้พูดและผู้พูดต้องคำนึงถึงหลักการพูดดังนี้
- การออกเสียงให้ถูกต้องตามหลักภาษา การออกเสียงสั้นยาว
เข้า – ข้าว
เก้า – ก้าว
เท้า – ท้าว
- การออกเสียงคำหลายพยางค์
ปรอท – ปะ – หรอด
ผลิต – ผะ – หลิด
- ออกเสียงให้ถูกต้องตามความนิยม
กำเนิด – กำ – เหนิด
เทศบาล – เทด – สะ – บาน
- ออกเสียงคำควบกล้ำให้ถูกต้อง
ตราด – ตราด
ตลาด – ตะ – หลาด
จรด – จะ – หรด
ควรปฏิบัติดังนี้
- ใช้คำทักทายผู้ฟังตามสถานภาพ เช่น สวัสดี เรียน กราบเรียน นมัสการ
- ใช้คำพูดที่แสดงถึงมารยาท เช่น ขอโทษ ขอบใจ ขอบคุณ
- ใช้คำพูดสุภาพให้เกียรติผู้ฟัง ไม่พูดดุดัน หยาบคาย
- ไม่พูดยกตนข่มท่าน โอ้อวดตนเองเหนือกว่าผู้อื่น
- ไม่พูดยืดยาวนอกประเด็น ผูกขาดการพูดคนเดียว
- ไม่โต้เถียงคัดค้านแบบไม่มีเหตุผล
- ไม่พูดเยาะเย้ย เหยียดหยามดูหมิ่นเสียดสีผู้อื่น
- ไม่พูดตัดบทกลางคัน
- ไม่ติเตียนผู้อื่นต่อหน้าชุมชน