
ความหมายของการอ่านตีความ
การอ่านตีความ เป็นการอ่านเพื่อให้ทราบความหมายหรือความคิดสำคัญของเรื่อง การตีความมักเป็นไปตามประสบการณ์และความรู้สึกของแต่ละคน ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องตีความหมายหรือความนัยตรงกันเสมอไป
อรอนงค์ ตั้งก่อเกียรติ ( 2539 : 1 )
การอ่านตีความนี้ ผู้อ่านจะต้องใช้ปัญญาแทงทะลุสิ่งที่อ่านได้ทั้งหมด คือสามารถเข้าใจเจตนาและท่าทีของผู้เขียนสามารถที่จะสรุปความคิด จับใจความสำคัญและอธิบายขยายความได้
สนิท ตั้งทวี ( 2538 : 296 )
หลักการอ่านตีความ
- อ่านเรื่องที่จะตีความนั้นให้ละเอียด แล้วพยายามจับประเด็นสำคัญนั้นให้ได้
- ขณะอ่านต้องพยายามคิดหาเหตุผลและใคร่ควรอย่างรอบคอบแล้วนำมาประมวลกับความคิดของตนว่าข้อความนั้นหมายถึงอะไร
- ทำความเข้าใจกับถ้อยคำบางคำที่มีความสำคัญ ตลอดจนคำแวดล้อมประกอบด้วย เพื่อเข้าใจความหมายของคำให้ชัดเจน
- ต้องระลึกไว้เสมอว่า การตีความไม่ใช่การถอดคำประพันธ์ การถอดคำประพันธ์หมายถึง การเก็บความหมายของบทประพันธ์ในตอนนั้น ๆ มาเรียบเรียงเป็นร้อยแก้วให้ครบทั้งข้อความ แต่การตีความนั้น เป็นการจับเอาแต่ใจความสำคัญจะคงไว้ซึ่งข้อความเดิมไม่ได้ ถ้าข้อความนั้นมีสรรพนามจะต้องเปลี่ยนเป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 ทันที
- การเรียบเรียงข้อความที่ได้จากการตีความนั้น จะต้องให้มีความหมายชัดเจน
- จับใจความสำคัญของเรื่องนั้นด้วยความรู้ความคิดอย่างมีเหตุผล
ตัวอย่างการอ่านตีความ
เห็นช้างขี้ อย่าขี้ตามช้าง (สุภาษิต)
- ตีความด้านเนื้อหาได้ความดังนี้
“จะทำอะไรก็ควรดูฐานะของตนเสียก่อน ไม่ควรเอาอย่างคนอื่นที่เขามีฐานะกว่าเรา”
- ตีความด้านน้ำเสียง ได้ความดังนี้
“ ให้รู้จักประมาณตน”