การฟังและการดูเป็นกระบวนการทำงานของสมอง ซึ่งสืบเนื่องมาจากสิ่งที่ได้ฟังและได้เห็นจดจำและนำมาตีความ จนเป็นผลให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ การฟังและการดูให้มีประสิทธิภาพต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่อไปนี้
- ประเภทของการฟังและการดู แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้
การฟังและการดูโดยไม่ตั้งใจ เป็นการฟังและการดูแบบผิวเผินไม่ได้ดูและฟังอย่างตั้งใจหรือเอาใจใส่ เช่น การฟังวิทยุในรถยนต์ การดูป้ายโฆษณาบนถนน เป็นต้น
การฟังและดูโดยตั้งใจเป็นการฟังและดูโดยมีจุดประสงค์ ความต้องการและเป้าหมายให้ชัดเจน คือจะดูหรือฟังเพื่ออะไร อย่างไร เช่น การฟังบรรยายในชั้นเรียน เป็นการฟังเพื่อจับใจความสำคัญว่าเนื้อหาที่ได้ศึกษาเป็นเรื่องอะไร ม่ความเป็นมาอย่างไร มีลักษณะอย่างไร เป็นต้น
- ความสำคัญของการฟังและการดู
การฟังและการดูมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของคนเราดังนี้
ช่วยในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน
ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ
ช่วยในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
- จุดมุ่งหมายของการฟังและการดู ที่สำคัญมีดังนี้
ฟังและดูเพื่อให้เกิดความรู้
ฟังและดูเพื่อความบันเทิง
ฟังและดูเพื่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน
ฟังและดูเพื่อความสุนทรีย์
หลักการฟังและดู
การฟังและดูที่มีประสิทธิภาพ ควรมีความรู้ความเข้าใจในหลักการฟังและการดูพอสมควร ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- หลักการฟัง การฟังเพื่อให้ได้ผลควรยึดหลักการฟังตามหลักเกณฑ์ ซึ่งจะทำให้ได้ผลดีต่อผู้ฟังเป็นอย่างมากหลักสำคัญสำหรับการฟังและการดูพอสรุปดังนี้
วางตัวตามสบาย
ตั้งใจฟังอย่างมีสมาธิ
ฟังเรื่องราวโดยตลอด
ฟังเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งชื่นชมและประทับใจ
ฟังแล้วเกิดจินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ฟังแล้วสามารถจับประเด็นสาระและสรุปเรื่องได้
- หลักการดู หลักการสำคัญสำหรับการดู จำแนกได้ดังนี้
ดูอย่างสบาย
ดูอย่างจดจ่อ
ดูให้ครบถ้วนตลอดเรื่องราว
ดูโดยมีข้อมูล
ดูแล้วติตาม
ดูแล้วเล่าได้
มารยาทในการฟังและดู
สำหรับการฟังและการดูในที่สาธารณะนั้น ผู้ฟังควรเข้าประจำที่ที่จัดไว้ให้นั่งฟังหรือดูก่อนเวลาที่กำหนดเล็กน้อย หากมาถึงสถานที่ก่อนเวลาควรเลือกแถวนั่งด้านหน้า แต่ถ้ามาสายควรยืนและน้อมตัวเล็กน้อยไปทางประธานเพื่อเป็นการขออนุญาตแล้วจึงนั่งลง
มารยาทในการฟัง
- เมื่อผู้พูดขึ้นเวทีควรปรบมือเพื่อเป็นการให้เกียรติ
- ควรฟังด้วยความตั้งใจ
- ไม่ควรก่อความรำคาญหรือรบกวนผู้อื่น
- ปิดอุปกรณ์สื่อสารเพื่อไม่ให้รบกวนผู้อื่น
- ควรปรบมือให้เกียรติผู้พูดเป็นครั้งคราว
- เมื่อมีธุระที่จำเป็นจะต้องออกจากห้องประชุม ควรทำความเคารพแล้วหันไปทางผู้พูดเพื่อเป็นการขออนุญาต
- เมื่อผู้พูด พูดจบควรปรบมือ
- เมื่อผู้พูดเปิดโอกาสให้ซักถาม ควรยกมือขึ้นก่อนแล้วรอให้ได้รับอนุญาตก่อนแล้วค่อยถามหรือเดินไปที่ไมโครโฟน
- หากมีข้อสงสัยควรจดหรือเขียนใส่กระดาษโดยไม่ต้องเขียนคำทักทาย
- ใช้ถ้อยคำที่สุภาพ
- เมื่อผู้พูดลงจากเวทีหรือมีการมอบของที่ระลึกควรปรบมือ
- เมื่อผู้พูดที่เป็นผู้ใหญ่ออกจากเวทีควรลุกขึ้นยืนเพื่อเป็นการให้เกียรติ
- หากผู้พูดกล่าวคำทักทายควรตอบสั้น ๆ ด้วยท่าทางสำรวมและเหมาะกับสถานภาพ
มารยาทในการดู
- การดูที่มีเก้าอี้ที่มีหมายเลขกำกับ ผู้ชมควรไปถึงก่อนเวลาเล็กน้อย
- การยืนดูควรใช้หลักการอะลุ่มอล่วยกัน คือ ให้ความเห็นใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
- ในขณะที่ชมการแสดงไม่ควรแสดงตนอวดรู้
- การเดินเข้าไปในสถานที่ชมควรเดินเข้าออกตามลำดับ
- การวิจารณ์ผู้แสดงไม่ควรพูดในขณะที่แสดง
การนำอาหารเครื่องดื่มหรือสัตว์เลี้ยงเข้าไปในที่แสดงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เกิดความรำคาญและรบกวนผู้อื่น