
อักษรนำ อักษรตามคือ อักษรสูง หรืออักษรกลางนำหน้าอักษรต่ำเดี่ยวประสมอยู่ในสระเดียวกัน พยัญชนะตัวหลังจะต้องมีเสียงวรรณยุกต์ตามพยัญชนะตัวแรก เช่น
อักษรสูงนำอักษรต่ำเดี่ยว
ขมวด ผงาด สมัคร ฝรั่ง ฉมวก
อักษรกลางนำอักษรต่ำเดี่ยว
ตลบ จรด กนก อร่อย ปลัด
หมายเหตุ
๑. อักษรนำอักษรตาม ดังรูปดังตัวอย่างข้างต้นนี้ ให้สังเกตว่า เมื่ออ่านออกเสียงคำจะอ่านออกเสียงพยางค์หน้าเป็นเสียง อะ กึ่งมาตราและพยางค์หลังอ่านออกเสียงคล้าย ห ประสม เพื่อจะให้มีพยางค์หลังเป็นเสียงวรรณยุกต์เดียวกับพยางค์หน้า เช่น ตลับ พยางค์หน้าเป็นเสียง เอก พยางค์หลังจึงต้องอ่านว่า หลับ เพื่อให้เป็นเสียงเอกด้วย
๒. ถ้าอักษรนำเป็น ห และอักษรตามเป็นอักษรต่ำเดี่ยว คือ ง ญ น อ ณ ร ว ม ฬ ล จะอ่านออกเสียงคล้ายเป็นอักษรควบ เช่น หงาย ใหญ่ หนอน หมัก หยิก หรือ ไหล หวาด
๓. ถ้าอักษรนำเป็น อ และอักษรตามเป็น ย จะอ่านออกเสียงคล้ายเป็นอักษรควบ มีใช้อยู่ ๔ คำ คือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก
อักษรควบ
อักษรควบ หมายถึง พยัญชนะ ๒ ตัวเรียงกัน อ่านออกเสียงกล้ำกันเป็นพยางค์ คำเดียว มี ๒ ประเภท
๑. อักษรควบแท้ ได้แก่ พยัญชนะต้นทุกรูป (ยกเว้น ห ) ประสมกับ ร ล ว ในสระเดียวกันอ่านออกเสียงพร้อมกันทั้งสองตัว เช่น กลัก ขวนขวาย กวัดแกว่ง กล้าม กวาง
๒. อักษรควบไม่แท้ ได้แก่ พยัญชนะต้นทุกรูป (ยกเว้น ห) ที่มีตัว ร ควบอยู่ด้วยแต่ไม่อ่านออกเสียง ตัว ร เช่น จริง เศร้า ไซร้ หรืออ่านออกเสียงแปรเป็นเสียงอื่น เช่น ทร ควบกล้ำอ่านออกเสียงเป็น ซ ได้แก่ ทรัพย์ ทราย ทรวด ทรง ทราบ อินทรีย์ ไทร เป็นต้น