ตัวอย่างโคลงโลกนิติ หลังจากที่เราได้ทราบถึงความหมาย ที่มา แล้ว วันนี้ เรามาดูตัวอย่างโคลงทั้ง 42 บท กันดีกว่า ซึ่งวัตถุประสงค์ในการแต่งก็คือเป็นคดีสอนใจ
ตัวอย่างโคลงโลกนิติ
ผู้แต่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร
รูปแบบ โคลงสี่สุภาพ
จุดประสงค์ในการแต่ง เพื่อเป็นคติสอนใจประชาชน
เนื้อเรื่องย่อ (ทั้ง ๔๒ บท)
บทที่ ๑ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการแต่ง ได้รับคำสั่งจากพระเจ้าแผ่นดินให้รวบรวมคำสั่งสอนต่าง ๆ ให้ประชาชนได้ศึกษา
บทที่ ๒ โคลงโลกนิติ เป็นโคลงโบราณมีมานาน เป็นโคลงสอนใจและให้จดจำไว้
บทที่ ๓ นำใบหญ้าคาไปห่อปลาร้า ใบหญ้าคาจะมีกลิ่นเหม็น การคบเพื่อนชั่วย่อมนำความเสื่อมเสียมาให้
บทที่ ๔ นำใบพ้อไปห่อไม้กฤษณา ใบพ้อนั้นจะมีกลิ่นหอม การคบนักปราชญ์ย่อมมีความสุข
บทที่ ๕ ผลมะเดื่อเมื่อสุก ผิวภายนอกจะมีสีแดงดุจสีของชาด แต่ภายในเต็มไปด้วยหนอน ดุจน้ำใจของคนชั่ว
บทที่ ๖ ผลขนุนเมื่อสุกผิวภายนอกมีหนามไม่สวย แต่ภายในมีรสชาติหวานอร่อย เปรียบดังคนดีมีจิตใจงาม
บทที่ ๗ คนเลวอยู่ใกล้คนดี แต่ก็ไม่สามารถรับรู้ความรู้หรือความดี เหมือนกับทัพพีไม่รู้รสของแกง
บทที่ ๘ หมูเห็นราชสีห์ก็ร้องท้าว่า ต่างก็มีสี่ขาเช่นกัน มาสู้กันเถิด อย่าหนี
บทที่ ๙ ราชสีห์ร้องตอบว่า เจ้าเป็นสัตว์สกปรกและพาล จึงไม่ขอรบด้วย ยังจะคิดรบกับข้าหรือ เจ้าจะแพ้ภัยตัวเอง
บทที่ ๑๐ พญานาคมีพิษมากเสมอดวงอาทิตย์แต่ไม่แสดงอำนาจ แมลงป่องมีพิษน้อยแต่โอ้อวดชูหาง คนดีย่อมอ่อนน้อม คนชั่วย่อยยกตนข่มท่าน
บทที่ ๑๑ นักปราชญ์ชอบหาความรู้และมีความเพียรพยายาม ดุจฝนทั่งให้เป็นเข็ม คนเกียจคร้านจะเบื่อหน่ายการเรียน ดุจตักน้ำใส่ตะกร้าไม่มีเต็ม
บทที่ ๑๒ งาช้างงอกแล้วไม่หดคืนเหมือนคำพูดของคนดีไม่เคยแปรเปลี่ยน คนชั่วกล่าวคำมักกลับกลอกเหมือนหัวเต่ายืดหดได้
บทที่ ๑๓ ห้ามไฟไม่ให้มีควัน ห้ามตะวันและเดือนส่องแสง ห้ามอายุไม่ให้ล่วงเลย จึงค่อยห้ามคำนินทา
บทที่ ๑๔ ตีนงูงูด้วยกันจึงเห็น นมไก่ไก่ด้วยกันจึงรู้ โจรย่อมรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมกัน ปราชญ์ย่อมรู้เท่าทันกัน
บทที่ ๑๕ ถ้าไม่คิด ฟัง ถาม เขียน ย่อมเป็นนักปราชญ์ไม่ได้
บทที่ ๑๖ คนมีความรู้น้อยทะนงตัวว่ามีความรู้มาก ดุจดังกบอยู่ในสระเล็ก ไม่เคยเห็นทะเลมหาสมุทร คิดว่าสระนั้นกว้างใหญ่นัก
บทที่ ๑๗ แม้จะต้องเสียทรัพย์สินควรรักษาเกียรติไว้ ยอมสระเกียรติเพื่อได้ความรู้ ยอมเสียรู้เพื่อรักษาความสัตย์ ถ้าจะต้องเสียสัตย์ยอมเสียชีพดีกว่า
บทที่ ๑๘ ตัดโค่นไม้จันทร์ ไม้ม่วง จำปา เพื่อปลูกไม้หนาม เป็นการกระทำที่โง่ เช่นเดียวกับฆ่าหงส์ ยูง ดุเหว่า เพื่อเลี้ยงกา
บทที่ ๑๙ ยูงเห็นลำน้ำคดเคี้ยวคิดว่าเป็นงู เนื้อทรายเห็นหางนกยูงคิดว่าเป็นหญ้า ลิงเห็นตาเนื้อทรายคิดว่าเป็นลูกหว้า หมายจะกิน
บทที่ ๒๐ มหาสมุทรลึกเพียงใดยังหยั่งสายดิ่งได้ ภูเขาสูงก็อาจวัดได้ แต่ใจคนยากจะคาดคะเน
บทที่ ๒๑ คนรักกันแม้จะอยู่ไกลสุดขอบฟ้าก็เหมือนอยู่ใกล้กัน คนเกลียดกันอยู่ใกล้กันเพียงตาต่อตา ก็เหมือนมีขอบฟ้าหรือป่าไม้มาบัง
บทที่ ๒๒ ผู้ให้ย่อมได้รับการให้ตอบ ผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ รักผู้อื่นย่อมได้รักตอบยกเว้นสำหรับคนชั่ว
บทที่ ๒๓ ผู้มีความรู้แม้จะรู้แจ้งเห็นจริง แต่ถ้าไม่มีใครส่งเสริมก็ไม่มีชื่อเสียง ดุจดังเพชรหัวแหวน ถ้าไม่มีเรือนรองรับก็ไม่สวยสง่างาม
บทที่ ๒๔ หยุดซ้อมดนตรี ๗ วัน หยุดศึกษาหาความรู้ ๕ วัน จากนารี ๓ วัน ทั้งหมดจะลืมได้และหากไม่ล้างหน้าเพียงวันเดียวย่อมเสื่อมราศีได้
บทที่ ๒๕ ใช้เหล็กเท่าต้นตาลผูกโลกไว้ และผูกใจคนด้วยเวทมนตร์คาถา ทำได้เพียงชั่วคราวแต่ผูกใจคนด้วยไมตรีผูกได้ชั่วชีวิต
บทที่ ๒๖ ชนะคนโกรธด้วยไมตรี ชนะคนชั่วด้วยความดี ชนะคนโลถด้วยการให้ ชนะคนโกหกด้วยความจริง
บทที่ ๒๗ ผู้มีใจเข้มแข็งชนะผู้อื่นได้มากมาย แต่นักปราชญ์ยกย่องผู้ชนะใจตนเอง
บทที่ ๒๘ ความรู้มีค่ามากกว่าทรัพย์สมบัติทั้งปวง และไม่มีใครเอาไปได้ ความรู้จะอยู่คู่ตนตลอดไป
บทที่ ๒๙ ความผิดของผู้อื่นเพียงเล็กน้อยมักมองเห็นและติฉินนินทา แต่ความผิดของตนมากมายกลับมองไม่เห็น
บทที่ ๓๐ เมืองที่มีพระราชาผู้ทรงธรรม อำมาตย์เที่ยงตรง เมืองนั้นย่อมเจริญรุ่งเรืองและประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข
บทที่ ๓๑ ผู้ทอดทิ้งบิดามารดายามแก่เฒ่า ผู้นั้นจะพบภัยพิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บทที่ ๓๒ ดอกไม้ที่ว่าหอม ก็ไม่สามารถหอมทวนลม แต่ความดี ความมีศีลสัตย์ หอมฟุ้งไปทั่วทั้งใกล้ไกล
บทที่ ๓๓ ผู้ทำความดีย่อมได้ผลดีมีความสุขดั่งเงาติดตามตัว ผู้ทำความชั่วย่อมได้แต่ความทุกข์ ดั่งล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าวัว
บทที่ ๓๔ ต้องใช้น้ำสะอาดชำระล้างสิ่งสกปรกจึงจะสะอาด การมีเวรกรรมต่อกันต้องระงับด้วยการไม่จองเวร
บทที่ ๓๕ สายบัวบอกความตื้นลึกของน้ำ กิริยาของคนบอกถึงนิสัยใจคอและชาติตระกูล คำพูดบอกถึงความฉลาดและโง่ หญ้าเหี่ยวแห้งบอกถึงสภาพความเลวของดิน
บทที่ ๓๖ อย่าใฝ่สูงเด็ดดอกไม้สวรรค์ซึ่งอยู่สูงสุดมาเชยชม จะผิดหวัง หวังดอกพะยอมธรรมดาสามัญ ย่อมสอยเอาได้
บทที่ ๓๗ แม้ยากจนก็อดทนกินก้อนเกลือ ไม่ควรเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ต้องรักษาเกียรติ เช่น เสือ แม้หิวโหยอดอยากก็หาอาหารกินเอง
บทที่ ๓๘ เลี้ยงเสือโดยใช้เงิน ๑ บาท ซื้อเนื้อให้เสือ เสือไม่อ้วน เพิ่มคนเลี้ยงหลายคน เสือยิ่งผอม ที่สุดเสือก็ตายเพราะคนเลี้ยงต่างคดโกง
บทที่ ๓๙ วัวควายตายแล้วยังเหลือเขาเหลือหนังไว้ทำประโยชน์ คนเราตายแล้วเหลือไว้แต่ความดีและความชั่วให้ปรากฏ
บทที่ ๔๐ ดวงอาทิตย์อาจขึ้นทางตะวันตก ภูเขาอาจคลอนแคลน ไฟนรกอาจมอด ดอกบัวอาจขึ้นบนเขา แต่คนดีย่อมมีสัตย์วาจาไม่แปรเปลี่ยน
บทที่ ๔๑ เพื่อนกินจะทอดทิ้งเมื่อเราหมดทรัพย์ เพื่อนเช่นนี้หาง่าย แต่เพื่อนแท้จะไม่มีวันทอดทิ้งและยอมตายแทนได้ซึ่งหายากยิ่ง
บทที่ ๔๒ คนอ่อนหวานย่อมมีเพื่อนมากมาย คนหยาบคายไม่มีใครคบ เหมือนดวงจันทร์ขึ้นจะมีดาวห้อมล้อม แต่พอดวงอาทิตย์ขึ้นก็จางหายเพราะความร้อนแรงของแสงอาทิตย์