
ความหมายของการพูดเชิญชวน
การพูดเชิญชวนเป็นการพูดลักษณะหนึ่งของการพูดจูงใจ มีจุดมุ่งหมายหลักที่จะเปลี่ยนทัศนคติของผู้ฟังให้เป็นไปตามแนวทางของผู้พูด การพูดลักษณะนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ศิลปะการพูดเพื่อโน้มน้าวจิตใจของผู้ฟัง
ประเภทของการพูดเชิญชวน
๑. การพูดเชิญชวนให้ร่วมปฏิบัติทางสังคม
๒. การเชิญชวนให้ใช้บริการต่างๆ ซึ่งมักปรากฏในรูปแบบของการโฆษณา
๓. การเชิญชวนให้เปลี่ยนความคิดทั้งทัศนคติ
แนวทางสำคัญของการพูดเชิญชวน
การพูดเชิญชวนจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้พูดจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางในการพูด ดังนี้
๑. ผู้พูดควรตระหนักถึงหลักการพูดเชิญชวน เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ มีความต้องการที่จะฟังเรื่องราวต่อไปจนเกิดความพึงพอใจเห็นจริงตามที่พูด ทั้งนี้เพราะผู้พูดได้นำเสนอเรื่องราวอย่างมีเหตุผล มีการสร้างมดนภาพให้แก่ผู้ฟังด้วยการยกตัวอย่างหรือใช้สื่อประกอบการพูดจนผู้ฟังเห็นจริง
๒. ผู้พูดที่ดีต้องเตรียมความพร้อมที่จะพูดโดยศึกษาเรื่องราวอย่างละเอียด แสดงเรื่องราวที่พูด ความหมายของสารที่ต้องการจะสื่อให้ผู้ฟังเข้าใจอย่างกระจ่างชัด แสดงเหตุผลในการเชิญชวนได้อย่างถูกต้องน่าฟังและมีน้ำหนัก เพื่อให้ผู้ฟังตระหนักถึงความจริงและความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามคำเชิญชวนนั้น
๓. ผู้พูดต้องใช้น้ำเสียงและแสดงความรู้สึกที่แท้จริง มีความกระตืรือร้นที่จะพูดพร้อมทั้งใช้ท่าทางและสายตาประกอบอย่างเหมาะสม
๔. การพูดเชิญชวนที่ดีต้องคำนึงถึงความถูกต้อง เป็นการเชิญชวนให้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมิใช่เป็นการเชิญชวนในสิ่งที่ผิด ในขณะเดียวกันผู้พูดต้องให้เกียรติผู้ฟัง โดยเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้เลือกตัดสินใจเชื่อและคล้อยตาม มิใช่เป็นการบังคับผู้ฟัง
๕. ผู้พูดต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับผู้ฟัง ได้แก่ อายุ เพศ ฐานะ ทางเศรษฐกิจ การศึกษา การนับถือศาสนา และความสนใจเป็นต้น การทำความเข้าใจผู้ฟังย่อมมีผลดีต่อการนำเสนอความคิดเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ และคล้อยตามประเด็นที่เชิญชวนโดยคำนึงถึงหลักสำคัญว่า บุคคลทั่วไปย่อมพึงพอใจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพต่างๆ เพื่อให้เกิดผลดีต่อตนเองและต้องการได้รับการยกย่องจากสังคม
๖. ผู้พูดที่ดีต้องแสดงความคิดอย่างมีเหตุผล มีความรู้กว้างขวาง นำกลวิธีการพูดลักษณะต่างๆให้ผู้ฟังสนใจ เช่น นำเรื่องที่ทำให้ผู้ฟังอยากรู้อยากเห็น นำเรื่องแปลกหรือใช้การวิพากษ์วิจารณ์มาประกอบ เป็นต้น
๗. พูดตามลำดับขั้นตอน โดยพิจารณาหัวข้อที่จะใช้พูดเชิญชวน กำหนดวัตถุประสงค์การพูด ค้นคว้าความรู้ประกอบ เลือกวิธีการพูด เลือกเหตุการณ์ประกอบการพูดให้เหมาะสม
๘. ผู้พูดที่ดีต้องเตรียมพร้อมเสมอว่า ผู้ฟังจะมีความเห็นด้วยกับผู้พูดหรือมีความเห็นเป็นกลาง ไม่แน่ใจ หรือมีความเห็นไม้เห็นด้วย เพื่อที่จะศึกษาถึงสาเหตุและนำมาเป็นแนวทางในการพูดต่อไป
๙. การพูดจูงใจสามารถพูดได้ในประเด็นต่างๆ เช่น พูดเกี่ยวกับสุขภาพ สวัสดิภาพในสังคม เสรีภาพ ขนบธรรมเนียมประเพณี และเกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียง เป็นต้น