การพูดชี้แจงเหตุผล

 

การพูดชี้แจงเหตุผลคือ  การพูดที่ผู้พูดมุ่งให้ผู้ฟังเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ  ได้ตรงกัน  หรือให้ผู้ฟังสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง  หรือชี้แจงให้ทราบว่า  มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น  ที่ไหน  เมื่อไร  และเกิดขึ้นได้อย่างไร  เช่น  การพูดชี้แจงกิจกรรมของชุมนุมภาษาไทย  หรือการชี้แจงขอความร่วมมือในเรื่องต่าง ๆ  เป็นต้น  ดังนั้นผู้พูดจึงควรศึกษาวิธีการชี้แจงที่มีประสิทธิภาพ  ดังนี้

๑. ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่ตนเองจะต้องชี้แจงให้ผู้อื่นฟังให้ถ่องแท้ก่อนที่จะพูด

๒. รวบรวมประเด็นสำคัญ ๆ  ที่ต้องการจะแนะนำหรือชี้แจงให้ครบถ้วน

๓. วางแผนขั้นตอนในการชี้แจงให้ชัดเจนว่า  จะชี้แจงส่วนใดก่อน  เช่น  อาจเริ่มด้วยปัญหา  ขอบเขตของปัญหา  วิธีแก้ปัญหา  และสรุป

๔. แสดงขั้นตอนของสิ่งที่ต้องการให้ผู้ฟังปฏิบัติตามให้ชัดเจน  ซึ่งอาจต้องใช้เอกสาร  แผนภูมิประกอบการพูดด้วย

๕. ใช้ภาษาง่าย ๆ  เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ  พูดตรงประเด็น  ไม่อ้อมค้อม  น้ำเสียงแจ่มใส  ชัดเจนหนักแน่น  น่าเชื่อถือ

๖. ควรเปิดโอกาสให้ผู้ฟังซักถามข้อข้องใจได้

ข้อแนะนำในการเตรียมการชี้แจงเหตุผล

เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น  ผู้เกี่ยวข้องต้องมีการหาสาเหตุของปัญหา  แล้วชี้แจงเหตุผลของปัญหาที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ประสบปัญหานั้นฟัง  การที่จะให้คำชี้แจงนั้นน่าเชื่อถือ  ควรมีการเตรียมการเป็นลำดับขั้น  ดังนี้

๑. ศึกษาปัญหาว่า  ตัวปัญหาที่แท้จริงคืออะไร  เช่น  ทำไมน้ำจึงท่วมบริเวณโรงเรียนของนักเรียน  แต่ไม่ท่วมบ้านที่อยู่ใกล้โรงเรียน  ผู้เกี่ยวข้องก็จะต้องหาเหตุผลมาชี้แจงให้เห็นตัวปัญหาที่แท้จริงให้ได้  เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาให้ถูกจุด

๒. ศึกษาข้อมูลหรือหลักฐานที่เป็นปัญหา  โดยการค้นคว้า  สำรวจว่าน้ำท่วมบริเวณโรงเรียนมีมูลเหตุจากอะไร  จะแก้ไขได้อย่างไร

๓. ร่างคำชี้แจง  หลังจากที่ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแล้วก็ร่างคำชี้แจงเพื่อเตรียมพูด

๔. พูดชี้แจงด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน  อธิบายเหตุผลตามลำดับ  ให้เนื้อความเกี่ยวเนื่องกัน  อาจใช้อุปกรณ์ประกอบการชี้แจง  เช่น  แผนที่  รูปภาพ  เพื่อให้คำพูดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

ที่มา:กรมวิชาการ (๒๕๓๘:๑๐๗)

Veradet.com
Logo
Shopping cart