คำประสม คำที่ใช้ในภาษามีทั้งคำที่เป็นคำมูลคำเดียว และคำที่ประกอบด้วยคำมูลมากกว่า ๑ คำ คำที่เป็นคำมูลคำเดียว เช่น เสมอ สบาย สมัย ย่อ ว่าย ใจ น้ำ ชุด ไม้ ฯลฯ ส่วนคำที่ประกอบด้วยคำมูลมากกว่า ๑ คำ เช่น เสมอภาค สบายใจ สมัยนิยม ย่อความ ว่ายน้ำ ใจความ น้ำทะเล ชุดว่ายน้ำ ไม้แขวนเสื้อ ฯลฯ คำที่ประกอบไปด้วยคำมูล ๑ คำ มีหลายประเภท เฉพาะที่แสดงตัวอย่างมานี้เรียกว่า คำประสม คำประสมคือ คำคำเดียว แต่เป็นคำที่ประกอบด้วยคำมูลมากกว่า ๑ คำ
ตัวอย่าง คำประสม
เสมอภาค ประกอบด้วยคำมูล ๒ คำ คือ เสมอ, ภาค
สมัยนิยม ประกอบด้วยคำมูล ๒ คำ คือ สมัย, นิยม
ใจความ ประกอบด้วยคำมูล ๒ คำ คือ ใจ, ความ
ชุดว่ายน้ำ ประกอบด้วยคำมูล ๓ คำ คือ ชุด, ว่าย, น้ำ
ไม้แขวนเสื้อ ประกอบด้วยคำมูล ๓ คำ คือ ไม้, แขวน, เสื้อ
ส่วนประกอบของคำประสม คือ คำ แต่เมื่อมีคำใดคำหนึ่งมาประกอบรวมกับคำอื่น กลายเป็นคำประสมแล้ว คำที่มาประกอบรวมรวมกันนั้นจะไม่มีฐานะเป็นคำอีกต่อไป เช่น
ว่าย เป็น คำ ๑ คำ
น้ำ เป็น คำ ๑ คำ
ว่ายน้ำ เป็น คำ ๑ คำ
ว่ายและน้ำ ในที่นี้ต่างเป็นส่วนหนึ่งของคำว่า ว่ายน้ำ ดังนั้น ว่ายและน้ำ ในคำว่า ว่ายน้ำ จึงไม่มีฐานะเป็นคำ
ไม้ เป็นคำ ๑ คำ
แขวน เป็นคำ ๑ คำ
เสื้อ เป็นคำ ๑ คำ
ไม้แขวนเสื้อ เป็นคำ ๑ คำ ในที่นี้ ไม้ แขวน เสื้อ ต่างเป็นส่วนหนึ่งของคำว่า ไม้แขวนเสื้อ ดังนั้นคำว่า ไม้ แขวน เสื้อ ในคำว่า ไม้แขวนเสื้อ จึงไม่มีฐานะเป็นคำ
ความหมายของคำประสมเป็นความหมายรวมของคำที่มาประกอบกันทั้งคำ ไม่ใช่ความหมายแยกส่วนมารวมกัน เช่น เสมอภาค หมายถึง เท่าเทียมกัน ไม่ใช่นำความหมายของ เสมอ และภาค มาเรียงต่อกัน
ความหมายของคำประสมอาจไม่สอดคล้องกับส่วนประกอบหลักของคำก็ได้ เช่น ไม้แขวนเสื้อ เป็นคำประสม หมายถึง อุปกรณ์สำหรับแขวนเสื้อผ้า ซึ่งมีไม้เป็นส่วนประกอบหลัก แต่ไม้แขวนเสื้อ อาจทำด้วย ไม้ พลาสติก โลหะหรือวัสดุอื่นก็ได้ นอกจากนี้ คำประสมจะเป็นคำที่จะเปลี่ยนไปใช้อย่างอื่นไม่ได้ ไม้แขวนเสื้อ แม้จะนำไปแขวนกางเกง ก็ยังต้องเรียกว่า ไม้แขวนเสื้ออยู่ดี ไม่เรียก ไม้แขวนกางเกง ไม้แขวนผ้าขนหนูหรือ ไม้แขวนกระโปรง