
การอ่านพยัญชนะที่ไม่มีรูปสระกำกับ ตัวพยัญชนะที่ไม่มีรูปสระกำกับและไม่ได้เป็นตัวสะกดหรือตัวการันต์ ออกเสียงประสมพยัญชนะตัวเดียว หรือกับสระต่างกัน ดังนี้
๑. พยัญชนะตัวเดียวหรือพยัญชนะตัวแรกออกเสียงประสมกับสระ –ะ เช่น ณ ธ ครุศาสตร์ จรัญ จริยา จเร ชรา ดรุณี ตรัง ธเรศ นรินทร์ นรี ปวารณา ปริญญา ปราชัย ปรินิพพาน พลาธิการ พลานามัย ภราดา มรุต สบาย สรณะ สรีระ อริยะ อรัญ
๒. พยัญชนะตัวแรกออกเสียงประสมกับสระ –ะ และออกเสียงแบบอักษรนำนำพยางค์ที่ตามมาด้วย เช่น จรัส จริต ถนอม บรั่นดี ปรักหักพัง สลาตัน ผลิต ผลึก สรุป ผวา ปลัด
๓. พยัญชะตัวแรกออกเสียงประสมกับสระ –ะ ตัวที่สอง ทำหน้าที่เป็นตัวสะกดและประสมกับสระอะ เช่น คณนา (คัน นะ นา) หรืออ่าน คะนะนา, คนนะนา
๔. ตัว บ ที่ไม่มีรูปสระกำกับ ในคำต่อไปนี้ออกเสียงประสมกับสระ อ เช่น บ บ่ บพิตร บรม บวร บริกรรม บริการ บริขาร บริวาร บริเวณ บริบูรณ์ บริสุทธิ์ บริหาร
๕. พยัญชนะที่ไม่มีรูปสระกำกับและมีตัว ร ตาม ออกเสียงประสมกับสระ อ และออกเสียง ตัว ร ที่ตามมาเป็นตัวสะกดในแม่ กน เช่น กร จร พร ศร อร กินนร จราจร ทิฆัมพร ทินกร บวร สิงขร สุนทร อดิศร อุดร
คำต่อไปนี้ประกอบด้วยตัวพยัญชนะ ๓ ตัว ไม่มีรูปสระ พยัญชนะตัวแรกออกเสียงประสมกับสระ ะ ตัวที่สองออกเสียงประสมกับสระ อ ส่วนตัว ร ซึ่งเป็นตัวที่ ๓ เป็นตัวสะกดในแม่กน เช่น นคร ภมร มกร สมร อมร
๖. พยัญชนะที่ไม่มีสระกำกับ มีตัว ร ตาม ในคำต่อไปนี้ ออกเสียงประสมกับสระ อ ส่วนตัว ร ที่ตามมาออกเสียงประสมกับ สระ ะ เช่น จรลี กรพินธุ์ กรวิก จรดล ทรกรรม ทรชน ทรพี ทรมาน ทรราช ทรลักษณ์ ธรณี ธรณินทร์ นรชน นรชาติ นรราช นรสิงห์ นรกานต์ มรณะ วรพุทธเจ้า หรดาล หรดี อรชร อรชุน อรนุช อรอร
๗. คำที่ใช้รูปพยัญชนะ ๒ ตัวเรียงกัน พยัญชนะตัวแรกออกเสียงประสมกับสระ โอะ พยัญชนะที่ตามมาใช้เป็นตัวสะกด มักเรียกกันว่า สระโอะลดรูป
ตัวอย่างการอ่านพยัญชนะที่ไม่มีรูปสระกำกับ
ตัวสะกดในแม่ กง เช่น คง งง จง ชง คง ตง ธง ผง ผง พง วง
ตัวสะกดในแม่ กน เช่น คน จน บน ขน หน ทน ปน ฝน มน
ตัวสะกดในแม่ กม เช่น คม นม จม ขม ชม งม สม ดม อม กม ผม
ตัวสะกดในแม่ กก เช่น กก งก วก ดก อก พก รก ตก จก ฟก
ตัวสะกดในแม่ กด เช่น จด กด อด ปด ผด หด ขด มด สด บด ลด
ตัวสะกดในแม่ กบ เช่น กบ ขบ นบ ลบ งบ สบ ทบ อบ กบ
๘. คำต่อไปนี้ พยัญชนะตัวแรกอกเสียงประสมกับสระ ะ ตัวที่ ๒ ออกเสียงประสมกับสระโอะ ส่วนพยัญชนะตัวที่ ๓ ใช้เป็นตัวสะกด และอาจมีตัวการันต์ ตามมาด้วย เช่น กมล นรก ผจง พสก สกล สบง ณรงค์ วรงค์ สดมภ์
ถ้าตัวแรกเป็นอักษรสูงหรือกลางและตัวที่ ๒ เป็นอักษรต่ำเดี่ยว จะออกเสียงแบบอักษรนำด้วย เช่น กนก ขรม ฉงน ตลก ถนน ผงก สนม
๙. คำต่อไปนี้มีสระหลายเสียงปนอยู่ อาจเป็นสระ ะ โอะ หรือ อ
กนกนคร อ่านว่า กะ หนก นะ คอน
กมลวรรณ อ่านว่า กะ มน วัน
กรรมกร อ่านว่า กำ มะ กอน
ขจรจบ อ่านว่า ขะ จอน จบ
ขจรตลบ อ่านว่า ขะ จอน ตะ หลบ
ชนกชนนี อ่านว่า ชะ นก ชน นะ นี
ชนมพรรษา อ่านว่า ชน มะ พัน สา
ทศพร อ่านว่า ทด สะ พอน
ทศวรรษ อ่านว่า ทด สะ วัด
บรรพต อ่านว่า บัน พด
วรรณพร อ่านว่า วัน นะ พอน
ศตวรรษ อ่านว่า สัด ตะ วัด หรือ สะ ตะ วัด
สัปตสดกมหาทาน อ่านว่า สับ ตะ สะ ดก มะ หา ทาน
๑๐. คำต่อไปนี้ต้องแยกพยางค์ให้ถูกต้องจึงจะได้ความหมายที่ต้องการ
กรงนกออกของกนกพร แยกเป็น กรง – นก – ออก –ของ กนก – พร
กลลวง แยกเป็น กล – ลวง
ขนมอบ แยกเป็น ขนม – อบ
ขนงกงวงคิ้ว แยกเป็น ขนง – กง -วง -คิ้ว
เรือนรก แยกเป็น เรือ – นรก หรือ เรือน – รก ก็ได้
พิศวงงงงวย แยกเป็น พิ ศวง – งง – งวย