คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนาม เพื่อไม่ต้องกล่าวถึงคำนามซ้ำ ๆ เพื่อบอกว่าใครเป็นผู้พูด พูดกับใคร หรือแทนคำนามในลักษณะอื่น ๆ
คำสรรพนามมีหลายชนิด ได้แก่ คำบุรุษสรรพนาม คำสรรพนามถาม คำสรรพนามชี้เฉพาะ คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะ คำสรรพนามแยกฝ่าย ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะคำบุรุษสรรพนามซึ่งพบมากกว่าคำสรรพนามชนิดอื่น
คำสรรพนาม
คำบุรุษสรรพนาม
คำบุรุษสรรพนาม คือ คำที่พูดใช้แทนตนเอง แทนผู้ที่ผู้พูดพูดด้วย และแทนผู้พูดที่พูดถึง
คำบุรุษสรรพนามที่ผู้พูดใช้แทนตนเองหรือสรรพนามบุรุษที่ ๑ เช่น ฉัน ผม ดิฉัน กระผม หนู
คำบุรุษสรรพนามที่ผู้พูดใช้แทนผู้พูดด้วย หรือสรรพนามบุรุษที่ ๒ เช่น คุณ ท่าน แก เจ้า
คำบุรุษสรรพนามที่ผู้พูดใช้แทนผู้พูดถึง หรือสรรพนามบุรุษที่ ๓ เช่น ท่าน เขา มัน
คำบุรุษสรรพนามในภาษาไทย สะท้อนวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมการใช้ภาษาของไทยหลายประการ ได้แก่
๑. ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สนทนา คำบุรุษสรรพนามในภาษาไทยแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูด (สรรพนามบุรุษที่ ๑) กับผู้ฟัง (สรรพนามบุรุษที่ ๒) และหากมีการกล่าวถึงบุคคลอื่น (สรรพนามบุรุษที่ ๓) ก็จะแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับผู้ที่กล่าวถึงด้วย
๒. ความสุภาพของผู้พูด ผู้ใช้ภาษาสามารถเลือกคำบุรุษสรรพนามเพื่อแสดงความสุภาพและไม่สุภาพได้ เมื่อพูดกับคนใกล้ชิดหรือสถานการณ์ส่วนตัว ผู้พูดอาจเลือกคำที่แสดงความสนิทสนมหรือเป็นกันเอง เช่น หนู เขา ตัว แก อั้ว ลื้อ แต่เมื่อพูดกับคนอื่นพูดกับสาธารณชน ผู้พูดต้องเลือกคำที่มีลักษณะเป็นทางการหรือสุภาพตามฐานะของผู้ฟัง เช่น ผม ดิฉัน คุณ ท่าน
๓. อารมณ์ของผู้พูด ผู้ใช้ภาษาอาจเลือกคำบุรุษสรรพนามที่แสดงอารมณ์ของตนได้ในบางสถานการณ์ เช่น ในเวลาโกรธ เวลารัก เวลาขอความช่วยเหลือ ความเห็นใจ
ผู้พูดบางคนอาจใช้คำบุรุษสรรพนามบางคำแทนได้ทั้งผู้พูดและผู้ที่กำลังพูดด้วยแทนทั้งผู้พูดและผู้ที่พูดถึง หรือบางคำแทนได้ทั้งผู้พูดด้วยและผู้ที่พูดถึง เช่น
– เราอยากชวนเธอไปห้องสมุดด้วยกัน
- เราเป็นคำบุรุษสรรพนามแทนผู้พูด
– เราน่ะ เป็นพี่ต้องคอยดูแลน้อง
- เรา เป็นคำบุรุษสรรพนามแทนผู้ที่พูดด้วย
คำนามบางคำอาจใช้อย่างคำบุรุษสรรพนามได้ ได้แก่ คำเรียกญาติ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง ฯลฯ คำเรียกตำแหน่งหรือหน้าที่การงาน เช่น หัวหน้า ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ คณบดี สารวัตร จ่า ผู้พัน ฯลฯ คำส่วนใหญ่ดังกล่าว หากต้องการแสดงความสุภาพยิ่งขึ้นอาจใช้คำว่า คุณ นำหน้า เช่น คุณยาย คุณแม่ คุณครู คุณตำรวจ คุณจ่า ฯลฯ ดังตัวอย่าง
– พ่อว่าวันเสาร์อาทิตย์นี้จะชวนลูกไปทะเล แม่ว่าอย่างไรจ๊ะ
- พ่อ ใช้เป็นคำบุรุษสรรพนามแทนผู้พูด
- แม่ ใช้เป็นคำสรรพนามแทนผู้ที่พูดด้วย
- ลูก ใช้เป็นคำสรรพนามแทนผู้ที่พูดถึง
– หมอแนะนำให้คุณยายดื่มน้ำมาก ๆ
- หมอ ใช้เป็นคำบุรุษสรรพนามแทนผู้พูดหรือแทนผู้ที่พูดถึง
- คุณยาย ใช้เป็นคำบุรุษสรรพนามแทนผู้ที่พูดด้วยหรือแทนผู้ที่พูดถึง
คำสรรพนามถาม
คือคำสรรพนามที่ใช้แทนนามและใช้แสดงคำถามในขณะเดียวกัน ในภาษาไทยมีเพียง ๓ คำ ได้แก่ ใคร อะไร ไหน เช่น
ใครเขียนจดหมายฉบับนี้
คุณต้องการพูดกับ ใคร
อะไรตกลงไปในน้ำ
น้องกำลังทำ อะไรอยู่
ร่มอยู่ ไหน
ไหนขนมที่เธอซื้อมา
คำสรรพนามชี้เฉพาะ คือ คำสรรพนามที่ใช้บอกระยะใกล้ ไกล คำสรรพนามชี้เฉพาะมีเพียง ๘ คำ ได้แก่ นี่ นั่น โน่น นู่น ชุดหนึ่งแล้ นี้ นั้น โน้น นู้น อีกชุดหนึ่ง คำสรรพนามชี้เฉพาะแต่ละชุดใช้บอกระยะไกล ใกล้แตกต่างกัน จากระยะใกล้ที่สุดไปจนถึงระยะไกลที่สุด ๔ ระยะ นี่กับ นี้ บอกระยะใกล้ที่สุด นั่น กับ นั้น บอกระยะที่ไกลออกไป โน่น กับ โน้น บอกระยะที่ไกลออกไปอีก นู่น กับ นู้น บอกระยะที่ไกลที่สุด เช่น
คำสรรพนามชี้เฉพาะ นี่ นั่น โน่น นู่น สามารถใช้ตามหลังคำกริยาหรือใช้ขึ้นต้นประโยคก็ได้ เมื่อใช้ขึ้นต้นประโยค อาจตามด้วยคำนามหรือคำกริยาก็ได้
ใช้ตามหลังคำกริยา
นั่ง นี่ไหม
ร่มอยู่ นั่นไง
ดู โน่นซิ
ดาวลูกไก่อยู่ นู่น
ใช้ขึ้นต้นประโยคและมีคำนามตามมา
นี่กระเป๋าของใคร
นั่นที่ทำการไปรษณีย์
โน่นโรงพยาบาล
นู่นสถานีรถไฟ
ใช้ขึ้นต้นประโยคและมีคำกริยาตามมา
นี่กินเสีย ของอร่อยนะ
นั่นทำผิดอีกแล้ว
โน่นวิ่งไปไกลแล้ว
นู่นตามไปให้ทันนะ
คำสรรพนามชี้เฉพาะ
นี้ นั้น โน้น นู้น ต้องใช้ตามหลังคำบุพบทเสมอ
มีอะไรอยู่ใต้ นี้
ตรง นั้นไม่ควรวางของ
นกเกาะอยู่บน โน้น
เขาเดินเข้าไปใน นู้น
คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะ คือคำสรรพนามที่ไม่ระบุหรือกำหนดแน่นอนว่าหมายถึงผู้ใด อะไร สิ่งใด หรือสถานที่ใด ได้แก่ ใคร อะไร ไหน เช่น
เรื่องนี้เขาไม่ได้บอก ใครเลย
เขาจะพูด อะไรก็เรื่องของเขา
อยู่ ไหนก็ไม่สะดวกเท่าบ้านเรา
คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะ
อาจมีรูปซ้ำกับคำสรรพนามแทนบุคคลบางคำได้แก่ ท่าน เรา เขา เช่น
ท่านว่า ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง
เขาลือกันว่าพี่ชายฉันป่วยหนัก
เทศกาลสงกรานต์ เราเล่นสาดน้ำกันทั้งประเทศ
คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะบางคำอยู่ในรูปของคำซ้ำ ได้แก่ ใคร ๆ อะไร ๆ ใด ๆ อื่น ๆ เช่น
ใคร ๆก็ชอบขนมปังไส้สังขยาร้านนี้
อะไร ๆเขาก็กินได้ ขออย่าให้เผ็ดเป็นพอ
ใด ๆในโลกล้วนอนิจจัง
แม่ครัวซื้อผัก หมู ไก่ ผลไม้และอื่น ฯลฯ
คำสรรพนามแยกฝ่าย
คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามหรือบุรุษสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า เพื่อแสดงว่ามีหลายฝ่าย หลายส่วน แต่ละฝ่าย แต่ละส่วนแยกกันทำกริยาใดกริยาหนึ่งหรือมากกว่า คำสรรพนามแยกฝ่าย มีเพียง ๓ คำเท่านั้น ได้แก่ ต่าง บ้าง กัน
ต่าง ใช้แทนคำนามข้างหน้าเพื่อแสดงว่า มีหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายทำกริยาอย่างเดียวกัน เช่น
ชาวนา ต่างก็เกี่ยวข้าวแล้วนำข้าวขึ้นยุ้งฉาง
จะพุทธหรือมุสลิมเรา ต่างก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น
เรา ต่างคนต่างอยู่กันดีกว่า
บ้าง ใช้แทนคำนามข้างหน้าเพื่อแสดงว่า มีหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายแยกทำกริยาต่างกันหรือเป็นกรรมของกริยาต่างกัน คำว่า บ้าง มักใช้เป็นคู่ ปรากฏในประโยค ๒ ประโยคที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกัน เช่น
# นักเรียนเหล่านั้น บ้างก็นอน # บ้างก็นั่ง #
#เงินทองที่หามาได้ ฉันก็ใช้บ้าง # เก็บบ้าง #
เมื่อบ้างปรากฏหลังคำนามหรือบุรุษสรรพนามและปรากฏหน้าคำกริยา แสดงความหมายว่า แต่ละฝ่ายแยกทำกริยาต่างกัน เช่น
คนสวน บ้างรดน้ำ บ้างพรวนดิน
เด็ก ๆ บ้างก็ดูทีวี บ้างก็เล่นเกม ยังไม่ยอมหลับนอนกัน
พวกเราบ้างก็พักบ้านญาติ บ้างก็พักตามวัด
เมื่อบ้างปรากฏหลังคำกริยาแสดงความหมายว่า แต่ละส่วนถูกกระทำไม่เหมือนกัน เช่น
ของที่ซื้อเก็บไว้ในตู้เย็น ก็กิน บ้าง ทิ้งบ้าง
เสื้อผ้าที่ซักแล้ว ก็รีด บ้าง ไม่รีดบ้างตามสะดวก
คำนามหรือคำบุรุษสรรพนามที่ปรากฏหน้าคำสรรพนามแยกฝ่าย ต่าง บ้าง อาจเป็นคำที่อยู่ในประโยคเดียวกันหรือยู่ในประโยคคนละประโยคซึ่งอยู่ก่อนหน้าก็ได้ เช่น
คำนามหรือคำบุรุษสรรพนามปรากฏในประโยคเดียวกับคำสรรพนามแยกฝ่าย ต่าง บ้าง
# เพื่อนในกลุ่มแต่ละคนต่างก็มีครอบครัวกันแล้วทั้งนั้น#
#เด็กช่างกลโรงเรียนนี้บ้างก็ใฝ่ดี ใช่ว่าจะเป็นนักเลงไปเสียทั้งหมดที่ไหนกัน#
คำนามหรือคำบุรุษสรรพนามปรากฏในประโยคคนละประโยคกับคำสรรพนามแยกฝ่าย ต่าง บ้าง เช่น
# นักท่องเที่ยวแต่ละคนล้วนแต่ต้องการความสำราญ # ต่างพากันดื่มกินอย่างเต็มที่ #
# พวกเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ # บ้างพรวนดิน # บ้างก็ดายหญ้า
กัน ใช้แทนคำนามหรือคำบุรุษสรรพนามข้างหน้า เพื่อแสดงว่า มีหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายทำกริยาอย่างเดียวกันกับอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น
มวยวันนี้ต่อยกัน มันทุกคู่
ผัวเมียคู่นี้ทะเลาะ กันเกือบทุกวัน
เขานัดชก กันท้ายโรงเรียน
ถึงจะนับถือศาสนาต่าง กันแต่เราก็รักกันได้
พี่น้องคู่นี้จาก กันไปนาน พอเจอหน้ากัน ก็กอดกันแน่น