
คำซ้ำ หมายถึง คำที่ประกอบด้วยคำเดียวกัน ๒ คำ ในการเขียนจะใช้เครื่องหมายไม้ยมกเขียนแทนคำซ้ำ คำพยางค์เดียวเมื่อซ้ำแล้วออกเสียงพยางค์หน้าเบา ลงเสียงหนักที่พยางค์หลัง เช่น เด็ก ๆ สาว ๆ ดี ๆ สวย ๆ เขียน ๆ อ่าน ๆ บ้าน ๆ เล็ก ๆ เล่ม ๆ หลัง ๆ ถ้าเป็นคำสองพยางค์ซึ่งออกเสียงพยางค์หน้าเป็นเสียงเบา พยางค์หลังเป็นเสียงหนักอยู่แล้ว เมื่อเป็นคำซ้ำจะออกเสียงเหมือนเดิม คือ เบาหนัก – เบาหนัก เช่น พอดี ๆ สบาย ๆ สนุก ๆ โรงเรียน ๆ ขยัน ๆ กระทรวง ๆ อาคาร ๆ
คำซ้ำ มีความหมายต่างกันเป็นหลายแบบดังนี้
๑. มีความหมายเป็นพหูพจน์ เช่น
- เด็ก ๆ น่ารักทุกคน
- สาว ๆ ที่บ้านทำงานกันเก่ง
- ยายมีความสุขที่อยู่กับหลาน ๆ
- เพื่อน ๆ ไปอยู่ที่ไหนกันหมด
๒. มีความหมายอ่อนลง เช่น
- เขาแต่งตัวเหมือนสาว ๆ
- เขาใส่เสื้อสีดำ ๆ
- ยายหนูชอบใส่เสื้อตัวใหญ่ ๆ
๓. มีความหมายเน้น เช่น
- ข้าวขาหมูของฉันขอแต่เนื้อ ๆนะ
- มาที่นี่บ่อย ๆ จะได้เรียนรู้อะไรบ้าง
- ที่นี่ขายแต่ของแพง ๆ
๔. มีความหมายไม่เจาะจง เช่น
- อะไร ๆ ก็ไม่อยากกินทั้งนั้น
- ที่ไหน ๆ ก็ไม่สบายเท่าบ้านเรา
- บ่าย ๆ ฉันจะไปซื้อของ
๕. มีความหมายแยกเป็นส่วน เช่น
- เขาจัดข้อมูลลงเป็นช่อง ๆ
- เธอควรทำงานให้เสร็จเป็นเรื่อง ๆ ไป
- เราควรพิจารณาเป็นประเด็น
๖. มีความหมายต่อเนื่องกันเป็นหลายครั้ง เช่น
- ฉันคิด ๆ อยู่แล้วก็อยากไปเรียนต่อ
- เธอทำ ๆ ไปเดี๋ยวก็เก่งเอง
- ฉันเขียน ๆ จนไม่มีอะไรจะเขียนแล้ว